กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? จัดการอย่างไร? เทคนิคสำคัญ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? จัดการอย่างไร? เทคนิคสำคัญ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจ่ายเงินสมทบเพื่อเก็บเป็นเงินสำรองให้ลูกจ้างเมื่อเกษียณออกจากงาน หรือเป็นเงินเก็บสำรองหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนไม่อาจใช้ชีวิตแบบเดิมได้ หรือถึงขั้นเสียชีวิต โดยเงินส่วนนี้ก็จะส่งต่อให้ครอบครัวของลูกจ้าง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) บริษัทนายจ้างจะไม่มีความเกี่ยวพัน ไม่มีอำนาจในการบริหารกองทุนนี้ หากบริษัทปิดกิจการลงหรือมีหนี้สินใด ๆ เกิดขึ้นก็จะไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินกองทุนก็จะยังปลอดภัย

แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้แค่เก็บเงินเอาไว้นิ่ง ๆ เหมือนบัญชีเงินฝากประจำ แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เช่น บลจ. ไทยพาณิชย์  กสิกร หรือทิสโก้ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทุนจะนำเงินไปลงทุนให้งอกเงย โดยที่ลูกจ้างเลือกระดับความเสี่ยงได้เองด้วย

คำศัพท์เบื้องต้น

  • เงินสะสม คือเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนทุก ๆ เดือนตามอัตราที่กำหนด
  • เงินสมทบ คือเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้ลูกจ้าง จำนวนต้องไม่น้อยกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
  • ผลประโยชน์จากเงินสะสม คือผลกำไรจากการนำเงินสะสมไปลงทุน
  • ผลประโยนช์จากเงินสมทบ คือผลกำไรจากการนำเงินสมทบไปลงทุน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? จัดการอย่างไร? เทคนิคสำคัญ

อัตราเงินสะสม

อัตราเงินสะสมตามกฎหมายกำหนดอยู่ที่ 2 – 15% ของเงินค่าจ้าง ซึ่งบริษัทสามารถกำหนดได้เอง แต่ห้ามต่ำหรือมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนมากแล้วบริษัทจะมีให้เลือก 2 – 3 ระดับ เช่น 3% 5% หรือ 10% จากเงินเดือน และมักจ่ายเงินสมทบให้เท่ากับที่ลูกจ้างจ่างเงินสะสม 

จะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อไหร่?

  • ลาออก/ออกจากงาน
  • เกษียณอายุ
  • เสียชีวิต
  • ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่ออกจากงาน 

จะได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไร?

เมื่อลูกจ้างออกจากงานไม่ว่าจะด้วยกรณีใด หรือแค่ต้องการลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างจะได้รับเงินสะสมของตัวเองและผลประโยชน์จากเงินสะสม 

ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ ลูกจ้างจะได้ก็ต่อเมื่อทำงานตามระยะเวลาที่บริษัทกำหนด ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีเงื่อนไขตรงนี้ไม่เท่ากัน ส่วนมากมักกำหนดไว้ว่ายิ่งทำงานนานมาก ก็ยิ่งได้รับเงินสมทบมากเท่านั้น เช่น 

  • ทำงาน 1 ปี ไม่ได้รับเงินสมทบ 
  • ทำงาน 3 ปีขึ้นไป ได้รับเงินสมทบ 50% พร้อมผลประโยชน์จากเงินสมทบ
  • ทำงาน 5 ปีขึ้นไป ได้รับเงินสมทบ 100% พร้อมผลประโยชน์จากเงินสมทบ

จากตัวอย่างจะเห็นว่ายิ่งทำงานนาน ก็ยิ่งได้เงินสมทบมาก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการและแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานที่บริษัทนานขึ้น 

หมายเหตุ: นับอายุงานเป็นหลัก ไม่ใช่อายุสมาชิกกองทุนของลูกจ้าง 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? จัดการอย่างไร? เทคนิคสำคัญ

ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ประโยชน์มากกว่าการออมเงิน เพราะยังมีเรื่องการลงทุน เป็นหลักประกัน และลดหย่อนภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่สำคัญคือได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง 

นายจ้าง

  • เป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง ทำให้คนอยากทำงานด้วย
  • จูงใจให้พนักงานอยู่ด้วยนาน ๆ ไม่ลาออกง่าย ๆ 
  • ใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้

ลูกจ้าง

  • หลักประกันระยะยาว มีเงินใช้ตอนเกษียณ  
  • เป็นเงินสำรองให้ครอบครัว หากทุพพลภาพหรือเสียชีวิต 
  • ได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง ช่วยเพิ่มยอดเงินเก็บได้มากขึ้น
  • ได้รับผลตอบแทนจากการที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำเงินไปลงทุน
  • มีผู้เชี่ยวชาญดูแลเรื่องการลงทุนให้
  • ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 

1 กองทุนหลายนโยบาย

ปกติแล้วกองทุนทั่วไปมักมีนโยบายเพียงนโยบายเดียว กองทุนจะเลือกประเภทการลงทุนและความเสี่ยงเอาไว้ให้นักลงทุนศึกษาก่อนลงเงิน เช่น กองทุน A ความเสี่ยงระดับ 7 เพราะลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อซื้อกองทุนนั้น 10,000 บาท ก็ต้องยอมรับนโยบายนั้นไป ผู้ลงทุนเลือกได้ไม่ว่าจะแบ่งเงินลงทุน 10,000 บาทก้อนนี้กระจายความเสี่ยงหลาย ๆ ระดับได้

แต่สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักเป็นกองทุนแบบหลายนโยบาย ซึ่งเรียกว่า Employee’s Choice หรือสมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนด้วยตนเอง และยังเลือกสัดส่วนการลงทุนได้ เช่น ต้องการแบ่งเงินลงทุน 30% ไปลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ และอีก 70% ที่เหลือขอลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น เพราะต้องการเพิ่มโอกาสทำกำไร  

ซึ่ง Employee’s Choice จะเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกรูปแบบนโยบาย ปรับจำนวนเปอร์เซ็นต์ เลือกระดับความเสี่ยงได้เอง ทำให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนสูงมากกว่ากองทุนธรรมดาทั่วไป 

เทคนิคการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเก็บออมและลงทุนที่ดีมาก อย่าเพิ่งคิดว่าแค่หักเงินไปก็จบ เดี๋ยวผู้ดูแลกองทุนจะจัดการที่เหลือให้หมด เพราะมันยังมีเทคนิคในการเพิ่มผลกำไรได้มากขึ้นกว่าที่คิด 

  • เลือกอัตราเงินสมสะสมสูงสุด เพื่อรับเงินสมทบสูงสุดจากนายจ้าง
  • เลือกนโยบายการลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะกับคุณ ยิ่งเสี่ยงสูง ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง
  • ติดตามผลงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสมอ หากว่าขาดทุนก็ควรปรับแผลการลงทุน หรือหากหุ้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจจะปรับสัดส่วนไปลงทุนหุ้นมากขึ้น
  • นำยอดเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี
  • เมื่อต้องลาออก เปลี่ยนงาน ควรเลือกเก็บกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอาไว้ที่เดิม ย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ หรือย้ายไปกองทุน RMF เพื่อจะได้ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? จัดการอย่างไร? เทคนิคสำคัญ

จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรเมื่อลาออก 

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าจะทำยังไงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อต้องการลาออก ไม่ว่าจะออกเพราะแค่ต้องการย้ายงานไปทำงานบริษัทใหม่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลาออกไปทำงานอิสระ เกษียณอายุงาน หรือแค่ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะลาออกแบบไหนก็มีวิธีจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้คุณเลือก

คงสิทธิ

ลูกจ้างคงสิทธิกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทเดิมได้ แต่จะไม่ได้เงินสมทบใด ๆ เพิ่ม ได้เพียงผลกำไรจากเงินสะสมของคุณและเงินสมทบก่อนที่จะลาออก ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน

โอนสิทธิไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทใหม่

หากบริษัทใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างขอย้ายสิทธิไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทใหม่ได้ โดยสามารถคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมได้ชั่วคราว นาน 90 – 365 วัน แล้วแต่เงื่อนไขกองทุน  

โอนสิทธิไปยังกองทุน RMF 

ทางเลือกนี้เหมาะสำหรับลูกจ้างที่ต้องการออกไปทำอาชีพอิสระหรือย้ายไปยังบริษัทแห่งใหม่ที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับ ลูกจ้างสามารถย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ไปยังกองทุน RMF ที่รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF for PVD ไม่สามารถนำไปลดหย่อยภาษีได้อีก แต่ก็จะไม่ถูกนำไปคิดรวมเป็นยอดเงินลงทุนสูงสุดใน RMF ของปีภาษีนั้น และไม่มีค่าบริการรายปี 500 บาทเหมือนกับฝากเอาไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม 

ลาออกจากองทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและรับเงินสด

ลูกจ้างสามารถลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วเลือกรับเงินสดได้ โดยระยะเวลาได้รับเงินจะอยู่ประมาณ 1 เดือนหลังส่งเอกสารคำร้อง แต่หากเลือกทางนี้ก็ต้องนำเงินก้อนนี้ไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีด้วย ซึ่งข้อนี้ลูกจ้างสามารถลาออกจากกองทุนเพื่อรับเงินสดได้แม้ว่าจะไม่ได้ลาออกจากงานได้เช่นกัน 

ภาษีเมื่อถอนเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำไมถึงต้องกังวลเรื่องภาษีล่ะ? คำตอบคือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักเป็นก้อนใหญ่ เมื่อถอนออกมาก็ต้องนำไปคำนวณภาษีรายได้ประจำปีในปีนั้น ๆ จนทำให้อัตราภาษีของปีนั้นพุ่งขึ้นสูงมาก อาจถึงขึ้นเปลี่ยนฐานภาษีเพิ่มไปอีก 1 – 2 ขั้นก็ได้ ดังนั้นปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า 

แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจ้างจะต้องนำยอดเงินทั้งหมดไปคำนวณภาษี เพราะเงินสะสมหรือเงินที่เราจ่ายเข้ากองทุนเองจะได้รับการยกเว้นภาษี แล้วเงินส่วนอื่นที่เหลือถึงนำมาคิดภาษี ซึ่งเงื่อนไขการคำนวณภาษีจะอิงจากอายุงานและอายุลูกจ้าง ดังนี้

อายุงานน้อยกว่า 5 ปี หรือลาออกจากปิดกองทุนแต่ไม่ได้ลาออกจากงาน 

นำเงินสมทบ ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบมาคำนวณภาษี

อายุงาน 5 ปีขึ้นไป แต่อายุลูกจ้างไม่เกิน 55 ปี 

ต้องนำเงินสมทบ ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบมาคำนวณภาษี โดยใช้สูตร [(เงินสมทบจากนายจ้าง+ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ) – (7,000 x อายุงาน)] / 2 = จำนวนเงินที่ต้องนำไปยื่นภาษี โดยสามารถแยกยื่นภาษีได้ วิธีคือเลือก ‘หน้าเลือกเงินได้ / ลดหย่อน  > เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน (ผู้มีเงินได้) (กรณีไม่นำไปรวมคำนวณภาษี)’ ตอนยื่นภาษีออนไลน์

เช่น ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 350,000 บาท แบ่งเป็นเงินสะสม 150,000 บาท เงินสมทบจากนายจ้าง 150,000 บาท ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ 50,000 บาท ทำงานมา 5 ปี 

วิธีคิด [(150,000+50,000) – (7,000 x 5)] / 2 = เงินที่ต้องนำไปคำนวณภาษีคือ 82,5000 บาท

อายุลูกจ้า 55 ปีขึ้นไป และอายุสมาชิกกองทุนมากกว่า 5 ปี ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

ไม่ต้องนำไปคำนวณภาษี

คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่อายุไม่ถึง 55 ปี ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่รองรับ หากไม่ต้องการเสียภาษี ควรย้ายกองทุนไปยัง RMF ซึ่งจะถอนออกมาใช้ได้เมื่ออายุ 55 ปี โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินไปคำนวณภาษีแต่อย่างใด  

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หากบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องสมัครทุกคนหรือไม่ ?

ไม่ ลูกจ้างสามารถเลือกได้เองตามความสมัครใจ

ลาออกนานแค่ไหนถึงจะได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน ?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละแห่งจะมีกำหนดต่างกัน หลังลูกจ้างเซ็นเอกสารขอลาออกจากกองทุนด้วย จะได้รับเงินตามนี้
– บลจ. ไทยพาณิชย์ กสิกร ทิสโก้ และกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
– กรุงไทย กองทุนจะทำข้อมูลทุกวันศุกร์ และจะได้รับเงินหลังจากนั้นประมาณ 5 วัน 

ต่างจาก RMF อย่างไร ?

ไม่มีนายจ้างช่วยจ่ายเงินสมทบ เงื่อนไขที่เหลือค่อนข้างคล้ายกัน ถอนได้ตอนอายุ 55 ปีโดยไม่ต้องนำไปคำนวณภาษี  

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , ,