กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

หากว่าคุณเป็นนายจ้าง เจ้าของบริษัท หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) คงมีลูกจ้างหรือพนักงานหลายคนถามว่าที่นี่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือเปล่าอยู่บ่อย ๆ ใช่หรือไม่ นั่นเพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือสวัสดิการชั้นดีที่ลงทุนไม่มาก แต่เอาชนะใจพนักงานได้เป็นอย่างดีเลยละ 

หากว่าคุณต้องการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมาบ้างก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากนัก เพราะว่ามีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่งให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะคอยให้คำปรึกษาและแนะนำตั้งแต่เริ่มเตรียมเอกสาร จัดตั้งเสร็จเรียบร้อย จนกระทั่งบริหารกองทุนให้เงินงอกเงย ซึ่ง Huapood.com ได้รวบรวมมาให้คุณพิจารณาถึง 5 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์ กรุงไทย กสิกร กรุงศรี Tisco ด้วยกัน 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีหลักประกันทางการเงิน และเป็นสวัสดิการเมื่อลูกจ้างลาออกจากงาน เกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยจะหักเงินสะสมจากเงินเดือนของลูกจ้างส่วนหนึ่ง จากนั้นนายจ้างจะสมทบทุนเข้ากองทุน และส่งต่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรให้งอกเงย 

หากต้องการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าคืออะไรและดีอย่างไรกับพนักงาน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร จัดการอย่างไร? เทคนิคสำคัญ

ทำไมนายจ้างต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้มีประโยชน์สำหรับลูกจ้างฝ่ายเดียว แต่ยังมีประโยชน์ต่อนายจ้างด้วยเช่นกัน และนี่เหตุผลที่นายจ้างควรจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นเพื่อประโยชน์ของพนักงานและของนายจ้างเอง

  • เพื่อเป็นเงินก้อนสำหรับเกษียณหรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ทุพพลภาพ เสียชีวิต
  • เพื่อเป็นสวัสดิการจูงใจให้คนอยากมาทำงานด้วยยิ่งขึ้น
  • ช่วยให้พนักงานทำงานนานขึ้น ลดอัตราการลาออก
  • นายจ้างนำค่าใช้จ่ายไปลดภาษีได้ 

วิธีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  1. นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพร่วมกัน
  2. เลือกและแต่งตั้งกรรมการกองทุนฝ่ายนายจ้าง กรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละหนึ่งคนเป็นอย่างต่ำ
  3. เลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 
  4. ทำสัญญากับบลจ.ที่เลือกแล้ว 
  5. สำรวจความต้องการของลูกจ้างและกำหนดแผนการลงทุนที่เหมาะสม 
  6. จัดทำข้อบังคับกองทุน
  7. ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

เมื่อจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว นายจ้างและลูกจ้างต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อคอยบริหารและดูแลกองทุน จากนั้นลูกจ้างและนายจ้างก็จ่ายสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนโดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เลือกตั้งกองทุนด้วย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินและจัดทำทะเบียนสมาชิกให้กับกองทุน โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีทำงานร่วมด้วย ซึ่งกลต.จะกำกับดูแลทั้งหมดนี้อีกชั้นหนึ่ง

บลจ.ผู้ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทำอะไรบ้าง 

ไม่ว่าเลือกบลจ.ไหนมาดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หน้าที่หลัก ๆ จะไม่ต่างกันมาก ยกเว้นแต่ว่าบลจ.จะมีบริการเสริมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารในเครือเพิ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกพิเศษ

  • ให้คำปรึกษาและช่วยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 
  • บริหารเงินให้งอกเงย นำเงินจากกองทุนไปลงทุนตามนโยบายกองทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
  • ทำรายงาน เช่น รายงานการลงทุน รายงานการนำส่งเงินสะสมและสมทบรายเดือน และรายงานยอดเงินกองทุนของสมาชิก
  • จัดทำเช็คและหักภาษี เมื่อมีสมาชิกลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  
  • ให้ความรู้ด้านการเงินกับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • ให้บริการตรวจสอบยอดเงิน เช่น บริการตรวจสอบยอดเงินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชัน หรือทางโทรศัพท์

ค่าใช้จ่ายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

ค่าใช้จ่ายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปพิจารณาว่านายจ้างสามารถแบกรับได้เพียงลำพังหรือไม่ เพราะส่วนนี้จะส่งผลต่อการเลือกประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ จะมีดังนี้

  1. ค่าธรรมเนียมจัดตั้งกองทุนครั้งแรก
  2. ค่าธรรมเนียมจัดการกองทุน  
  3. ค่าธรรมเนียมรับฝากทรัพย์สิน 
  4. ค่าทะเบียนสมาชิก 
  5. ค่าธรรมเนียมรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน
  6. ค่าสอบบัญชีกองทุน 

ส่วนรายละเอียดราคาต้องสอบถามกับบลจ.ที่เข้ามาดูแลกองทุนอีกครั้ง

ประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 2 ประเภท โดยแยกตามจำนวนบริษัทนายจ้างที่อยู่ในกองทุนนั้น ๆ คือ 

กองทุนเดี่ยว (Single Fund) 

คือกองทุนที่มีนายจ้างเพียงรายเดียวในกองทุน ทำให้มีข้อได้เปรียบตรงที่เปลี่ยนแปลงข้อบังคับกองทุนและนโยบายการลงทุนได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องขอความเห็นจากนายจ้างรายอื่น ๆ 

แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายในการดูแลกองทุนสูงกว่ากองทุนร่วม เพราะต้องจ่ายอยู่เพียงรายเดียว ไม่มีบริษัทอื่นหารด้วย

กองทุนร่วม (Pooled Fund) 

คือกองทุนที่มีนายจ้างมากกว่า 1 รายเข้าร่วมในกองทุนเดียวกัน มีความยุ่งยากหากต้องการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือนโยบายการลงทุน เพราะต้องขอความเห็นจากนายจ้างทุกราย 

แต่ข้อดีคือค่าบริหารดูแลกองทุนไม่สูงมากเพราะหารเฉลี่ยกับนายจ้างรายอื่น ๆ นอกจากนี้เงินในกองทุนที่รวมจากหลาย ๆ บริษัทมักมีขนาดใหญ่จึงมีโอกาสลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลายมากขึ้นหรือกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น 

นโยบายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ก่อนจะพูดถึงนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรเข้าใจความหมายของนโยบายทั้ง 4 แบบนี้ก่อน ซึ่งมักเป็นนโบายที่ใช้ลงทุนในกองทุนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แต่อาจแตกต่างกันตรงจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่แบ่งไปลงทุน ขึ้นอยู่กับว่ากรรมการกองทุนเลือกสัดส่วนอย่างไร 

  1. ตราสารทุน (หุ้น) คือการลงทุนให้ตราสารทุนไม่ต่ำกว่า 65% ส่วนเงินที่เหลือนำไปลงทุนเงินฝากและตราสารหนี้ หรือลงทุนในตราสารทุน 100% ก็ได้ มีระดับความเสี่ยงสูง
  2. ตราสารหนี้ คือการลงทุนหุ้นกู้หรือพันธบัตรต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือเงินฝากเพื่อรับดอกเบี้ย เน้นได้รับเงินเป็นประจำ มีระดับความเสี่ยงต่ำ ความมั่นคงสูง แต่ผลตอบแทนก็ต่ำด้วยเช่นกัน
  3. ผสม คือการลงทุนทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ เช่น ลงทุนหุ้น 40% และตราสารหนี้ 60% เพื่อกระจายความเสี่ยง ระดับความเสี่ยงปานกลาง
  4. พิเศษ คือการลงทุนนอกเหนือจากนโยบายทั้งหมดที่กล่าวว่า เช่น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์  ระดับความเสี่ยงปานกลาง

คณะกรรมการกองทุนและบลจ.ที่ดูแลอยู่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งควรเลือกให้สอดคล้องกับความต้องการและระดับความเสี่ยงที่สมาชิกกองทุนหรือลูกจ้างยอมรับ ทั้งนี้สามารถเลือกได้ว่าอยากให้กองทุนมีนโยบายแบบไหน มีกี่นโยบาย และเปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมเลือกได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนโยบายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1 กองทุน 1 นโยบาย

กองทุนเลือกนโยบายมาให้แล้วและมีเพียง 1 นโยบายเท่านั้น สมาชิกกองทุนไม่สามารถเลือกนโยบายใด ๆ ได้เลย เช่น นโยบายเลือกว่าจะลงทุนในตราสารทุน กองทุนก็จะนำเงินไปลงทุนตามนั้นโดยที่สมาชิกเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

1 กองทุน หลายนโยบาย

กองทุนมีหลายนโยบายหลายระดับความเสี่ยง สมาชิกเลือกได้เพียง 1 นโยบายจากนโยบายเหล่านั้น เช่น กองทุนมีให้เลือกทั้งนโยบายตราสารทุน ตราสารหนี้ และผสม เมื่อสมาชิกเลือกลงนโยบายผสม เงินก็จะถูกนำไปลงทุนตามนั้น แบ่งตามสัดส่วนที่นโยบายเลือกให้ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอัตราส่วนในการลงทุนได้เอง

Employee’s Choice

กองทุนมีหลายนโยบายให้เลือก สมาชิกเลือกนโยบายได้มากกว่า 1 นโยบายผสมกัน เช่น กองทุนมีนโยบายให้เลือกครบทั้ง 4 นโยบายคือ ตราสารทุน ตราสารหนี้ ผสม และพิเศษ สมาชิกสามารถเลือกได้ทุกนโยบายที่ต้องการและเลือกอัตราส่วนได้ด้วย เช่น นาย A เลือกลงทุนนโยบายตารสารทุน 80% และพิเศษอีก 20% นาย B เลือกลงทุนนโยบายตราสารทุน 35% และตราสารหนี้ 65%

ข้อควรพิจารณาเลือกบริษัทจัดการหลักทรัพย์ (บลจ.) 

  • ความมั่นคง
  • มีประเภทกองทุนที่เหมาะกับขนาดของบริษัทหรือไม่ เช่น กองทุนเดี่ยวหรือกองทุนร่วม 
  • ความสม่ำเสมอในการสรุปและรายงานยอดเงินของกองทุน 
  • ตัวเลือกด้านนโยบาย หากมีความหลากหลาย มีความเสี่ยงหลายระดับให้เลือก
  • ระยะเวลาในการจ่ายเงินหลังจากที่ลูกจ้างลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 
  • มีบริการพิเศษหรือสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?
 ตารางเปรียบเทียบจุดเด่นของแต่ละบลจ. 
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

ไทยพาณิชย์

บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) ซึ่งเป็นบริษัทเครือเดียวกับธนาคารไทยพาณิชย์ มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านบริการที่รวดเร็วและทันสมัย มักมีบทความให้ความรู้เรื่องการลงทุนอัพเดตบนเว็บไซต์เป็นประจำ และมีให้เลือกหลากหลายประเภทการลงทุนอีกด้วย 

การตรวจสอบยอดเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ทำได้ง่ายมาก สามารถทำผ่านระบบออนไลน์และแอพของ SCBAM ได้ตลอดเวลา สะดวกมาก ๆ หรือหากต้องการเอกสารรับรองจากบลจ. ก็จะได้รับเอกสารแจ้งยอดทุกเดือนและทุกปี หากสมาชิกลาออกจากกองทุนก็จะได้รับเงินคืนภายใน 30 วัน 

นอกจากนี้ SCBAM ยังมีบริการพิเศษจากธนาคารไทยพาณิชย์ให้กับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย ทั้ง บัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต สินเชื่ออเนกประสงค์ การลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น กองทุนรวม LTF, RMF รวมไปถึงประกันชีวิต เรียกได้ว่ามีบริการให้ครบครัน 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

กรุงไทย

บลจ.กรุงไทย (KTAM) ถือเป็นบลจ.ที่มีความมั่นคงมากเพราะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่นั่นไม่ใช่จุดเด่นเพียงอย่างเดียว บลจ.ยังมีบริการที่ครบครันทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนค่อนข้างเยอะและหลากหลายเรื่องการเก็บออมและต่อยอดเพิ่มผลกำไร

ส่วนการรายงานสรุปยอดกองทุนของสมาชิกก็จะส่งให้เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน และยังมีระบบออนไลน์ให้เช็กยอดได้ด้วยตัวเอง 24 ชั่วโมงผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพได้อีกด้วย

อีกจุดเด่นที่ทำให้ KTAM น่าสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ ระยะเวลาจ่ายเช็คให้กับสมาชิกที่ลาออกจากกองทุน ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 – 7 วันทำการ โดยเริ่มนับจากวันศุกร์ซึ่งเป็นวันสุดยอดเงินในกองทุน ถือว่ารวดเร็วกว่าทุกบลจ.

นอกจากนี้ KTAM ยังช่วยแนะนำสมาชิกกองทุนได้หากต้องการใช้บริการด้านอื่น ๆ ของธนาคารกรุงไทย เช่น ทำประกันภัยหรือทำบัตรเครดิต 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

กสิกรไทย

บลจ.กสิกรไทยถือเป็นอีกหนึ่งแห่งที่เน้นให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่สมาชิกและลูกค้าทั่วไปมาก มีทั้งบทความและวิดีโอเรื่องการออมและลงทุนให้ได้ติตตามบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เสมอ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงการวางแผนการเงินแบบครบครันจนวันเกษียณ

นอกจากสมาชิกจะเช็กยอดเงินกองทุนผ่านระบบเว็บไซต์และแอพของธนาคาได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว บลจ. กสิกรไทยก็จะส่งเอกสารยืนยันยอดให้ทุก ๆ 6 เดือนด้วย ส่วนระยะเวลาคืนเงินให้กับสมาชิกเมื่อลาออกจากกองทุนจะใช้เวลาดำเนินการ 30 วันซึ่งเป็นมาตรฐานของหลาย ๆ บลจ.

แน่นอนว่าบลจ.กสิกรไทยก็มีบริการดูแลสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นพิเศษหากต้องใช้บริการอื่น ๆ ของธนาคารกสิกรไทยด้วยเช่นกัน 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

ทิสโก้

บลจ.ทิสโก้ (Tisco) มีชื่อเสียงด้านการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาก เพราะเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จึงมีประสบการณ์สูงและยาวนานที่สุด

นอกจากนี้ทิสโก้ยังเน้นการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ด้านการลงทุนให้กับสมาชิกด้วย โดยสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ และยังตรวจสอบยอดเงินสะสมผ่านเว็บไซต์และแอพได้ด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน 

สำหรับสมาชิกที่ลาออกจากกองทุนจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วัน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานคล้ายกับบลจ.อื่น ๆ 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เลือกจัดตั้งที่บลจ.ไหนดี ในปี 2564?

กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมักให้ข้อมูลการลงทุนกับลูกค้าและสมาชิก ทั้งเป็นบทความและคลิปสัมมนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนบนเว็บไซต์เป็นประจำ และสมาชิกยังตรวจสอบยอดเงินสะสมผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน 

หากว่าสมาชิกลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทางบลจ.กรุงศรีจะใช้เวลาทำเรื่องจ่ายเงินคืนให้ภายใน 30 วัน 

นอกจากนี้บลจ.กรุงศรีและธนาคารกรุงศรีอยุธยาถือเป็นเครือเดียวกัน จึงสามารถให้คำปรึกษาและแนะนำบริการทางการเงินจากธนาคารให้ได้เช่นกัน 

คำถามพบบ่อย

หากลูกจ้างต้องการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่นายจ้างไม่สนใจ ลูกจ้างจะสามารถจัดตั้งเองได้หรือไม่ ?

ไม่ได้ นายจ้างและลูกจ้างต้องร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น ฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดจำนวนขั้นต่ำของสมาชิกหรือไม่ ?

ไม่จำกัดจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ มีพนักงานคนเดียวก็จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้

ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว เช่น ลาคลอด หรือลางานระยะยาวโดยไม่รับเงินเดือน ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนแทนนายจ้างได้หรือไม่ ?

ไม่ได้ เพราะการจ่ายเงินสะสมจะหักจากค่าจ้างทุกครั้ง และเมื่อไม่มีค่าจ้าง ก็ไม่สามารถหักเงินสะสมได้ และนายจ้างก็ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนได้เช่นกัน นอกจากนี้ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิ์จ่ายเงินสมทบแทนนายจ้างเช่นกัน 

หากนายจ้างมีปัญหาทางการเงิน และสามารถจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างได้เพียง 60% ลูกจ้างและนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนโดยคิดจากเงินเดือน 100% หรือ 60% 

ลูกจ้างและนายจ้างยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนโดยคิดที่เงินเดือน 100% หากจ่ายเพียง 60% แล้วตามมาจ่ายทีหลังจะต้องเสียเงินเข้ากองทุนเพิ่ม 5% ต่อเดือนจากยอดที่จ่ายล่าช้า (ยอด 40% ของเงินเดือน)

เมื่อจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมประกาศชักชวนให้พนักงานสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนะคะ เพื่อจะได้สร้างหลักประกันและความมั่นคงที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , , , , , , , , , ,