9 คำถามสัมภาษณ์งานพบบ่อย มีคำตอบตัวอย่างให้ได้งาน

ตอบ 9 คำถามสัมภาษณ์งานพบบ่อย ให้ได้งาน พร้อมตัวอย่าง

หากคุณได้รับโอกาสไปสัมภาษณ์งาน การเตรียมตัวถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้คุณตอบคำถามได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยข้อมูลที่ถูกเรียบเรียงมาอย่างเหมาะสม และยังจะช่วยสร้างความประทับใจแรกต่อผู้สัมภาษณ์ได้มากเลยทีเดียว ซึ่งในบทความนี้จะขอแนะนำวิธีตอบ 9 คำถามสัมภาษณ์งานที่พบบ่อย ให้ได้งาน พร้อมตัวอย่าง

#1
แนะนำตัวเอง / เล่าประวัติตัวเองให้ฟังหน่อย

การแนะนำตัวเองนั้นควรเริ่มด้วย ชื่อ-นามสกุล ตามด้วยสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของตนเอง ไม่ว่าจะจบใหม่หรือย้ายงาน หากมีข้อมูลประวัติหรือประสบการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานใหม่ให้นำเสนอส่วนนี้ไปก่อน

ตัวอย่าง

สวัสดีครับ ผมชื่อโชคชัย เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ABC คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด ในปี 2565 มีประสบการณ์ฝึกงานที่บริษัท XYZ ซึ่งผมได้มีส่วนร่วมในการวางแผนวิเคราะห์สื่อและทำ Content ประเภทภาพและวีดีโอเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทาง TikTok และ Youtube พร้อมทั้งคัดเลือก KOLs / Influencers ที่น่าสนใจเบื้องต้นและติดต่อเพื่อนำเสนอแก่ทีมครับ

#2
ทำไมคุณถึงสนใจทำงานกับบริษัทของเรา ?

การที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น คุณจะต้องศึกษาบริษัทนั้นให้ครบถ้วนรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งด้านของประวัติ วัฒนธรรม โครงสร้าง อนาคตของบริษัท สินค้า บริการ อุตสาหกรรม และหากเป็นไปได้ให้ศึกษาคนที่ทำงานที่นั่นอยู่ด้วย

ตัวอย่าง

ผมต้องการทำงานกับบริษัท DEF เพราะเห็นว่าได้รับรางวัลสื่อยอดเยี่ยมแห่งปีมาติดต่อกันตลอด 5 ปีหลัง ผมเลยต้องการที่จะเรียนรู้เคล็ดลับและมาตรฐานการทำงานในที่แห่งนี้ องค์กรนี้ยังเป็นองค์กรที่มีลำดับขั้นแบบแบนราบ เหมาะกับผมที่ชอบการทำงานที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือขออนุมัติได้สะดวก นอกจากนั้นคุณ GBK ก็ยังเป็นหนึ่งใน Creatives ที่อยู่แถวหน้าของวงการ จึงเป็นแรงผลักดันให้ผมได้สมัครงานกับที่นี่ และผมมั่นใจว่าประสบการณ์และทัศนคติของผมจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทไม่มากก็น้อยแน่นอนครับ

#3
ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณเหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้?

สำหรับคำถามนี้ให้ศึกษาเนื้องานที่เราจะต้องรับผิดชอบให้ละเอียด มองความเป็นไปได้ในเส้นทางอาชีพนี้ พร้อมประโยชน์ และความน่าสนใจ อีกทั้งศึกษาเพื่อนร่วมงานใหม่ผ่านช่องทางโซเชี่ยล และลักษณะการทำงานของที่นี้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่เราจะนำคุณสมบัติและความรู้ในด้านต่างๆ ของเรามาจับสัมพันธ์กับความต้องการด้านการทำงานของบริษัท ให้บริษัทติ๊กเราผ่านในแต่ละข้อให้ได้

ตัวอย่าง

ผมเป็นคนที่รักการทำสื่อ ชอบคิด Content ชอบเข้าหาผู้คน แต่ถึงแม้ปัจจุบันผมจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ ผมก็ได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัท XYZ มาก่อน มีผลงานที่วัดผลและพิสูจน์ได้ สำหรับงานนี้ ในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ผมคิดว่าผมสามารถทำได้ และยังสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ปรับตัวเข้ากับทีมได้ไวเนื่องจากเคยมีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาบ้างแล้ว

#4
จุดอ่อนและจุดแข็งของคุณคืออะไร ?

คำถามนี้เราจะต้องแสดงความซื่อสัตย์ต่อทั้งตนเองและผู้สัมมภาษณ์ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ควรเลือกพูดเฉพาะจุดอ่อนที่ไม่มีผลต่อการทำงานใหม่โดยตรง อีกทั้งยังเป็นจุดอ่อนที่สามารถนำมาปรับปรุง พัฒนาหรือพลิกมาเป็นจุดแข็งได้ และเลือกโชว์จุดแข็งที่น่าประทับใจหรือมีความเกี่ยวข้องกับงานสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ตัวอย่าง 

สำหรับจุดอ่อนของผมนั้น ผมคิดว่าผมเป็นคนขี้สงสัยจนเกินไป เมื่อเรียนรู้หาข้อมูลอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อมีอีกเรื่องน่าสนใจขึ้นมาผมก็มักจะหยุดและไปเรียนรู้อีกเรื่องที่น่าสนใจแทน ทำให้ทุกวันนี้ผมเป็นคนรู้หลายอย่างแต่เรื่องที่เชี่ยวชาญจริงๆนั้นมีแค่ไม่กี่อย่าง แต่นั่นก็ทำให้ผมเป็นคนที่ไม่หยุดพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเอง ด้านจุดแข็งนั้นผมเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี คุยสนุก จากการฝึกงานที่บริษัท XYZ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดต่อกับ Influencers หลายท่าน และทุกครั้งก็สามารถทำได้สำเร็จเป็นที่พึงพอใจจากคนในทีมครับ

#5
คุณมองเห็นตัวเองอย่างไรใน 2-5 ปี ?

คำถามนี้ควรพูดเกี่ยวกับแผนอนาคต เป้าหมายชีวิตด้านการทำงานระยะสั้น และระยะยาวของเรา ซึ่งเราควรพูดถึงการเติบโตที่เกิดขึ้่นภายในบริษัทและความรู้จากบริษัทที่ได้รับจะช่วยให้เป้าหมายของเราสำเร็จได้อย่างไร

ตัวอย่าง

หากได้ทำงานให้กับบริษัท DEF แห่งนี้ ผมมองเห็นว่าภายใน 1-2 ปีนี้ ตัวเองจะมีมาตรฐานการทำงานด้านสื่อที่ค่อนข้างสูง สามารถขยายความสามารถทั้งด้านการแผนสื่อและ Creative Copy ได้อย่างชำนาญมากขึ้น ยิ่งหากได้ร่วมงานกับคุณ GBK ที่เป็นหนึ่งในผู้นำวงการด้านนี้แล้วหล่ะก็ ภายใน 5 ปี นี้ ผมมั่นใจเลยว่าผมจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างแคมเปญโฆษณาหลายตัวที่ผู้คนจดจำและพูดถึงอย่างแน่นอนครับ

#6
ช่วยเล่าเรื่องที่คิดว่าล้มเหลว/เสียดายที่สุดที่ต้องการกลับไปแก้ไขให้ฟังหน่อย

คำถามนี้ไม่ควรตอบว่าไม่เคยล้มเหลว หรือไม่มีเรื่องเสียดาย ชีวิตคนเรานั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราจะต้องมีเรื่องไม่ใหญ่ก็เล็กให้เสียดายหรือล้มเหลวบ้างเป็นบางที ดังนั้นแล้วเราควรเลือกเรื่องตอบที่เราได้แก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว หรือเรื่องที่ได้รับมาเป็นบทเรียน ซึ่งเราอาจได้ใช้บทเรียนนั้นแก้ไขปัญหาไปแล้วหรือกำลังจะมีโอกาสได้ใช้ในอนาคต

ตัวอย่าง

สิ่งที่ผมคิดว่าล้มเหลวที่สุดคือการตั้งใจเรียนครับ เพราะตอนอยู่ปี 1-2 ผมไม่ได้ตั้งใจเรียนมาก ไปให้เวลากับการทำกิจกรรมมากไปหน่อย ทำให้เกรดเฉลี่ยของทั้ง 2 ปี อยู่ประมาณ 3 ครับ แต่เมื่อขึ้นปี 3-4 ผมได้โฟกัสกับการเรียนมากขึ้นและผลลัพท์ก็ออกมาเป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งผมได้เกรดเฉลี่ยทั้ง 2 ปีอยู่ที่ 3.9 ครับ ทำให้ผมคิดว่าถ้าผมตั้งใจจะทำอะไร ผมจะสามารถทำมันออกมาได้ดีครับ

#7
เงินเดือนที่คุณต้องการอยู่ที่เท่าไหร่ ?

คำถามนี้เราต้องเอาฐานเงินเดือนเราเป็นที่ตั้ง และศึกษาช่วงเงินเดือนอาชีพในแต่ระดับ ในแต่ละอุตสาหกรรม และหากเป็นไปเป็นได้ให้ดูว่าความขาดแคลนของอาชีพนี้มีมากน้อยแค่ไหน บริษัทเปิดรับสมัครตำแหน่งนี้มานานแล้วหรือยัง ทั้งนี้ก็เพื่อดูความเป็นไปได้ว่าเราสามารถเรียกเงินเดือนได้สูงตามต้องการหรือไม่?

#8
คุณสมัครงานที่อื่นไว้บ้างหรือเปล่า

คำถามนี้ควรตอบตามความเป็นจริงว่าเราสมัครไปกี่ที่บ้าง หากสมัครไปเยอะ เราควรคัดเลือกบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือมีเรื่องเชี่ยวชาญเหมือนกัน เพื่อแสดงถึงความจริงจังว่าเราสนใจงานประเภทนี้ในวงการนี้จริงๆ นอกจากนั้นเราควรแสดงความตั้งใจและบอกเหตุผล ความต้องการที่จะทำงานที่นี่จริงๆ

ตัวอย่าง

ผมได้สมัครงานทั้งหมดไป 4 ที่ครับ ทั้งหมดเป็นเอเจนซี่สื่อโฆษณา แต่ผมต้องการทำงานกับบริษัท DEF นี้มากที่สุด เพราะว่าอยากรู้เคล็ดลับการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และยังอยากร่วมงานกับคุณ GBK ที่เป็นหนึ่งใน Creatives ที่เก่งที่สุดในประเทศไทยครับ

#9
มีคำถามอะไรที่อยากจะถามผู้สัมภาษณ์ไหม ?

เราอาจจะต้องเตรียมคำถามในใจไปบ้าง เพื่อแสดงความกระตืนรือร้น ความต้องการที่จะทำงานกับที่นี่จริงๆ แต่เราก็ควรเลือกหัวข้อคำถามให้เหมาะสม ตั้งแต่คำถามที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ ชีวิตประจำวันของพนักงาน ไปจนถึงเส้นทางอาชีพในบริษัท และถามเพียง 2-3 คำถาม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

ตัวอย่าง

  • Career Path ของตำแหน่งนี้เป็นอย่างไรในบริษัทแห่งนี้ ?
  • คุณชอบอะไรมากที่สุดในการทำงานที่บริษัทนี้ ?
  • ผมจะทราบผลของการสัมภาษณ์ครั้งนี้เมื่อไหร่ ?

และนี่คือ 9 คำถามสัมภาษณ์งานที่สามารถพบได้บ่อย พร้อมคำตอบตัวอย่าง หวังว่าข้อมูลที่นำมาเสนอในบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่การเตรียมตัวสัมภาษณ์งานของคุณไม่มากก็น้อยนะ

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: