ผื่นแดง แพ้ คัน | อาการ สาเหตุ ป้องกัน วิธีแก้

ผื่นแดง แพ้ คัน

ผื่น เป็นอาการผิดปกติทางผิวหนังที่ทุกคนต้องเคยเจอมาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยส่งผลอันตรายอะไรมากนัก แต่ผื่นก็สร้างความรำคาญให้ผู้ป่วยไม่น้อยเลย เพราะนอกจากจะทำผิวบวมแดงแล้ว ยังมักจะทำให้รู้สึกคันจนต้องเกายิกๆ นับว่าเสียบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะพามารู้จักผื่นให้มากขึ้นกันค่ะ จะได้ป้องกันรักษาตัวเองได้อย่างถูกต้อง โดยไม่มีผื่นมากวนใจอีกต่อไปค่ะ

ผื่น คืออะไร? มีกี่ประเภท

ผื่น (Rash) เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดกับผิวหนัง ผื่นมีหลายลักษณะแต่สามารถบอกได้แบบกว้างๆคือ อาการที่ทำให้ผิวเป็นตุ่มบวม อาจจะเป็นแค่ตุ่มเล็กๆในบริเวณแคบๆ หรือตุ่มขนาดใหญ่ที่เรียงติดกันเป็นแผ่นก็ได้ ผื่นส่วนมากมักก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังด้วย มีทั้งรู้สึกคัน แสบร้อนหรือเจ็บปวดขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดผื่น โดยทั่วไปแล้วผื่นสามารถหายเองได้ในเวลาไม่นาน ยกเว้นบางกรณีที่อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ก่อน ผื่นจึงจะหาย ผื่นมีมากมายหลายประเภทด้วยกัน แต่ที่พบได้บ่อยๆจะมีกันอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. ผื่นแดงนูน (Maculopapular Rash)

เป็นผื่นผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยมากที่สุด ผื่นจะมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มีสีแดง ชมพูหรืออมม่วงเล็กน้อย มีความบวมนูนขึ้นมาจากผิวหนังโดยรอบมากจนสามารถสัมผัสได้ บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย ผื่นแดงนูนเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการระคายเคืองที่ผิวหนังหรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โดยจะแพ้อะไรก็ได้ อาจจะเป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนังโดยตรงอย่างแพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ แพ้แมลง หรือแพ้ทางอ้อมแบบแพ้อาหารแล้วปรากฏอาการที่ผิวหนังด้วยก็ได้เช่นกัน

  1. ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema Dermatitis)

ผื่นชนิดนี้มีหลายลักษณะแล้วแต่บุคคลเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายกับผื่นแดง แต่เกิดกับบริเวณข้อเข่าอย่าง ข้อศอกหรือหัวเข่าเป็นหลัก อย่างไรก็ตามบริเวณของร่างกาย เช่น ลำคอ ศีรษะหรือลำตัวก็อาจเกิดผื่นชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน นอกจากผื่นแดงแล้วมักจะมีอาการผิวลอกเป็นขุย ผิวแห้งหรือคันร่วมด้วย ไม่ทราบสาเหตุการเกิดอย่างแน่นอน แต่มีความสัมพันธ์กับการนอนดึก นอนน้อยและเครียด

  1. ผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis)

ลักษณะของผื่นมีหลากหลายกว่าผื่น 2 ชนิดบน คือมีตั้งแต่ตุ่มแดงคันขนาดเล็กไปจนถึงตุ่มน้ำใสเลย หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย ผื่นจะมีลักษณะเป็นแผล มีทั้งแบบแผลแห้งและแผลชื้นเนื่องจากน้ำเหลืองไหลซึมออกจากแผล ส่วนใหญ่มักจะเกิดเฉพาะบริเวณที่สัมผัสที่สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนและกลุ่มเสี่ยง

ผื่นส่วนมาก มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงสามารถหายเองได้โดยที่ไม่ต้องรักษาแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าจะมีการรักษากันแบบผิดวิธี อาการจึงไม่ดีขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษานั้นได้ ดังนั้นเมื่อเป็นผื่นจริงๆ ต้องสังเกตความผิดปกติสักระยะก่อน ยังไม่ต้องรีบรักษาแต่อย่างใด แต่ถ้าหากมีอาการนานหลายวันแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย จะได้รับการรักษาที่ตรงจุดมากกว่า ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มคนที่มีผิวหนังบอบบาง แพ้ง่าย มีโอกาสสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อยหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนังได้ เมื่อโรคเกิดการกำเริบขึ้น เช่น โรคภูมิแพ้ โรครูมาตอยด์ เป็นต้น

สาเหตุ

สาเหตุของ ผื่น

ผื่นเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุมาก มีทั้งเกิดจากอาการคันธรรมดาไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายบางชนิดที่ต้องแสดงอาการออกมาในรูปแบบของผื่นผิวหนังเลยทีเดียว เช่น

  • สัมผัสสารก่อภูมิแพ้และการระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนัง เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ผงซักฟอกหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงมือยางและผลิตภัณฑ์จากยางทุกชนิด ฝุ่น พืชมีพิษ เป็นต้น
  • การใช้ยารักษาโรค ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผื่นผิวหนังได้ เช่น ยาที่ทำให้ผิวหนังแพ้แสง ไวต่อแสง จึงทำให้เกิดผื่นคันตามมาได้
  • ผดร้อน เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นอบอ้าว ทำให้ท่อเหงื่อระบายเหงื่อออกได้ไม่ดี ผดร้อนจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ อาจมองเห็นได้ไม่ชัดมากนักแต่เวลาลูบไปตามบริเวณที่มีอาการจะสามารถสัมผัสกับผดร้อนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้มักจะไม่ทำให้รู้สึกคัน ถ้าได้อาบน้ำหรืออากาศเย็นลง อาการจะค่อยๆดีขึ้นเอง
  • ลมพิษ ตอนแรกจะเกิดผื่นบวมแดงตามผิวหนัง มีทั้งขนาดเล็กใหญ่ ถ้าเกามักจะลามมากขึ้น เมื่อผื่นยุบแล้วอาจหลงเหลือรอยแดงขนาดเท่าผื่นอยู่ 2-3 วัน แล้วจะจางลงไปเองโดยไม่ต้องทายา
  • แมลงสัตว์กัดต่อย สัตว์บางอย่างนอกจากจะกัดเจ็บและทำให้คันมากได้แล้ว ยังก่อให้เกิดผื่นตามมาได้ด้วย เช่น เห็บ หมัด ไร เหา ยุง เป็นต้น ดังนั้นต้องระวังเอาไว้ให้ดี เพราะแมลงบางชนิดเป็นพาหะของโรคอันตราย
  • โรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะภูมิแพ้ผิวหนังหรือภูมิแพ้อาหาร ก็ก่อให้เกิดผื่นตามผิวหนังได้เช่นเดียวกัน แต่ว่าผื่นผิวหนังจากโรคภูมิแพ้มักมีอาการผิวแห้งลอกร่วมด้วย
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังได้เช่นเดียวกัน และผิวหนังบริเวณใดที่โดนแดดบ่อยๆ ก็จะเกิดผื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • การคั่งของเลือด หากเลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนคั่งอยู่บริเวณต่างๆของร่างกาย ตรงจุดที่เลือดคั่งอาจเกิดผื่นได้ ส่วนมากแล้วพบบริเวณขา
  • ต่อมไขมันอักเสบ มักพบการเกิดผื่นได้บ่อยครั้งตามหนังศีรษะ แต่ว่าบริเวณอื่นอย่าง หู จมูกและปากก็สามารถเกิดผื่นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากผื่นแล้วหนังศีรษะอาจจะแห้งคัน ลอกและเป็นรังแคร่วมด้วย
  • ผื่นผ้าอ้อม สำหรับเด็กทารกหรือผู้สูงอายุที่ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นเวลานาน ผิวหนังอาจเกิดความอับชื้นหรือระคายเคืองจากสารเคมีที่อยู่ในผ้าอ้อม ทำให้เกิดผื่นได้
  • การเจ็บป่วยอื่นๆ มีโรคมากมายที่ทำให้เกิดผดผื่นคันตามผิวหนังได้เช่นเดียวกัน เช่นโรคหัด โรคอีสุกอีใส โรคมือเท้าปาก โรคไข้อีดำอีแดง โรคคาวาซากิ โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ผื่นจากแต่ละโรคก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

ป้องกัน

วิธีป้องกัน ผื่น

วิธีการป้องกันการเกิดผื่นที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดผื่น เช่น ถ้าเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง ก็หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากเป็นคนที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือเครื่องสำอาง หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์หรือส่วนผสมของสารเคมีอันตราย ถ้ามีความจำเป็นต้องสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำหรือยาฆ่าแมลง ต้องสวมถุงมือและแต่งตัวให้มิดชิด ป้องกันการสัมผัสสาเคมีโดยตรง หากผิวหนังสัมผัสกับสารเคมี ต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที นอกจากนี้ก็อย่าลืมดูแลรักษาความสะอาดของผิว บำรุงผิวให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ ดื่มน้ำให้มากๆ เมื่อผิวชุ่มชื่นก็จะลดการระคายเคืองลงได้

รักษา

วิธีแก้ ผื่น

เนื่องจากผื่นส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายและทุเลาได้เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด แต่ถ้าสังเกตอาการดูแล้ว 2-3 วันแล้วพบว่าไม่ดีขึ้น อาจดูแลเบื้องต้นได้ดังนี้

  • รักษาความสะอาด ทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ปราศจากแอลกอฮอล์ สารกันเสีย น้ำหอมฉุนหรือสีสังเคราะห์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหรือเครื่องสำอางที่ไม่เคยใช้มาก่อนในช่วงที่มีผื่น เพราะว่ามันอาจกระตุ้นให้ผื่นขยายวงกว้างมากกว่าเดิมได้
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่อุ่นจัด เพราะจะทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองมากขึ้น
  • งดเกา เพราะจะทำให้รู้สึกคันมากขึ้น ผื่นอาจจะลุกลามเป็นวงกว้าง และถ้าหากเกาจนผิวถลอก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
  • หลังอาบน้ำ ใช้ผ้านุ่มๆซับน้ำให้แห้ง งดเช็ดถูด้วยความรุนแรง เพราะผิวอาจระคายเคืองมากกว่าเดิมได้
  • บำรุงผิวให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอด้วยโลชั่นสูตรอ่อนโยน เมื่อผิวชุ่มชื่น จะช่วยบรรเทาอาการคันได้ ผิวจะแห้งลอกน้อยลง หากไม่รู้จะใช้โลชั่นสูตรไหน ให้ลองใช้โลชั่นว่านหางจระเข้แบบ 100% หรือโลชั่นสูตรสำหรับเด็กทารกที่ไม่มีสี น้ำหอมและสารเคมีอันตรายอื่นๆ
  • หลีกเลี่ยงการปกปิดผิวบริเวณที่เกิดผื่น หากผื่นเกิดในร่มผ้าให้เลือกสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบา ระบายอากาศได้ดี ลดการอับชื้น ลดการเกิดผื่นเพิ่มเติมได้อีกด้วย
  • ยาแก้แพ้ ในรายที่มีอาการคันเพราะโรคภูมิแพ้ การทานยาแก้แพ้จะช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ว่ายาแก้แพ้มักมีผลข้างเคียงคือ ทำให้รู้สึกง่วงซึม จึงต้องระมัดระวังในการใช้งาน งดใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ งดใช้เมื่อต้องขับรถหรือต้องทำงานกับเครื่องจักรกลหนัก หากจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้จริงๆ แนะนำให้ใช้ช่วงก่อนเข้านอน จะได้ไม่ต้องประสบกับผลข้างเคียง
  • ครีมทาแก้คัน มีตัวยาช่วยบรรเทาอาการคันได้ แต่ว่าครีมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง เช่น ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ สเตียรอยด์เป็นสารที่มีประโยชน์แต่ก็อันตรายเช่นเดียวกันหากใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ละเอียดก่อนใช้ยา
  • ยารักษาโรคเชื้อรา ใช้ในกรณีที่มีอาการคันเนื่องจากเชื้อราเท่านั้น

การดูแลตัวเองด้วยวิธีการทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา สามารถปฏิบัติได้เลย ส่วนหากใครทำตามแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ก่อนเพื่อวินิจฉัย เมื่อรู้ถึงสาเหตุ แพทย์จะจ่ายยาที่ตรงกับสาเหตุมาให้ได้ หากใครต้องการซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบจากผลข้างเคียงของยา

FAQ

คำถามที่พบเป็นประจำเกี่ยวกับการเป็นผื่น

เป็นผื่นแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ ?

ผื่นมีด้วยกันอยู่หลายสิบชนิด หลายชนิดไม่มีอันตราย แต่ก็มีผื่นจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายมีความผิดปกติ เพราะฉะนั้นหากมีผื่นร่วมกับอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
1. มีผื่นขึ้นหลังจากทานยารักษาโรค / ทานอาหาร / ใช้สารเคมีที่ไม่เคยใช้มาก่อนเลย เพราะไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น หากแพ้จริงๆแล้วปล่อยปละละเลย อาจทำให้อาการแพ้รุนแรงจนทำให้เกิดอันตรายตามมาได้ เพราะฉะนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้ระมัดระวังตัวได้อย่างถูกต้องในเวลาต่อไป
2. มีผื่นร่วมกับเป็นไข้สูง หากเป็นในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคไข้ออกผื่น ถึงแม้ไข้ชนิดนี้อาจไม่อันตรายมากนัก แต่มักเป็นไข้สูงมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยชักได้เช่นเดียวกัน
3. มีผื่นขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติเหล่านี้ เช่น หลอดลมตีบบวม หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด หน้ามืด เป็นลม ท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ใจสั่น รู้สึกอยากนอนหลับ เป็นต้น เพราะนี่เป็นสัญญาณของภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด หากช้าไปแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว

สรุปได้ว่าผื่นเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนมากไม่อันตราย ดูแลรักษาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทานยาหรือทายาอะไรก็หายเองได้ ยกเว้นแต่ผื่นนั้นจะเป็นผลพวงจากโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ จำเป็นต้องรักษาสาเหตุให้หายดีก่อน ผื่นจึงจะหายไปได้ อย่างไรก็ตามผื่นบางชนิดอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการเจ็บป่วยร้ายแรงบางอย่าง ดังนั้นหากมีผื่นนาน 2-3 วันแต่ไม่ดีขึ้นหรือมีผื่นร่วมกับความผิดปกติอื่นๆดังที่กล่าวไปข้างต้น แนะนำว่าให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , , , , , ,