ความดันโลหิต คืออะไร | ปกติต่ำ-สูงเท่าไร? คู่มือสรุปความดัน

ความดันโลหิต สูง ต่ำ

ความดันโลหิต เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของร่างกายที่ควรมีการเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าต่ำไปก็ไม่ดี สูงไปก็อันตรายอีก เรียกว่ายิ่งสูงยิ่งเสี่ยงต่อโรคเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นมากที่ประชาชนทั่วไปควรทำความเข้าใจในเรื่องความดันโลหิตกันให้มากขึ้น จะได้รู้ว่าควรป้องกันตัวเองอย่างไรหรือดูแลรักษาตัวเองอย่างไรเมื่อถึงคราวเจ็บป่วย

ความดันโลหิต คืออะไร?

ความดันโลหิต (ความดันเลือด : Blood Pressure, BP) คือ ความดันในหลอดเลือดแดงหรือความดันที่เกิดจากการหมุนเวียนของเลือดภายในหลอดเลือดที่แรงกระทำต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจอีกที ดังนั้นความดันเลือดจึงผันแปรตามแรงบีบตัวของหัวใจ โดยจะมีกันอยู่ 2 ค่าคือ ค่าความดันสูงสุด เป็นช่วงการบีบตัวของหัวใจและค่าความดันต่ำสุด เป็นช่วงคลายตัวของหัวใจ ความดันเลือดทั่วทั้งร่างกายจะไม่เหมือนกัน หากหลอดเลือดนั้นๆอยู่ห่างจากหัวใจ ความดันก็จะมีค่าเฉลี่ยลดลงตามไปด้วย สาเหตุก็เพราะว่าสูญเสียพลังงานไปกับความหนืดนั่นเอง นอกจากนี้ความดันยังสามารถผันแปรได้จากอีกหลายปัจจัย เช่น แรงโน้มถ่วง (จากการยืน) การหายใจ ความเหนื่อย ความตื่นเต้น เป็นต้น ค่าความดันโลหิตเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใช้บ่งบอกสภาวะความเป็นไปของร่างกายได้ ทำให้รู้ว่าเส้นเลือดยังมีความยืดหยุ่นมากน้อยขนาดไหน

ตารางความดันโลหิต

อย่างที่บอกว่าค่าความดันโลหิตจะมีกันอยู่ 2 ตัวคือ ความดันโลหิตตัวบน (SBP : Systolic Blood Pressure) และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (DBP : Diastolic Blood Pressure) ดังนั้นเวลาวัดความดันก็จะมีตัวเลขออกมาให้ดู 2 ค่า เช่น 120/80 เป็นต้น อย่างไรก็ตามค่าความดันมีหลายระดับ และหลายคนก็ไม่ทราบว่าต้องมีความดันอยู่ในระดับใดดีจึงจะจัดอยู่ในเกณฑ์คนที่มีสุขภาพดี เราจึงนำตารางความดันโลหิตที่เหมาะสมจากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ปี 2558 ฉบับปรับปรุง มาฝากกัน

Category SBP (มิลลิเมตรปรอท) DPB (มิลลิเมตรปรอท)
Optimal <120 และ <80
Normal 120-129 และ/หรือ 80-84
High Normal 130-139 และ/หรือ 85-89
Grade1 Hypertension (Mild) 140-159 และ/หรือ 90-99
Grade 2 Hypertension (Moderate) 160-179 และ/หรือ 100-109
Grade 3 Hypertension (Severe) >=180 และ/หรือ >=110
Isolated Systolic Hypertension (ISH) >=140 และ <90

จากตารางค่าความดันที่ปกติจะมีความความดันตัวบนอยู่ที่ 120-129 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างอยู่ที่ 80-84 มิลลิเมตรปรอท แต่ถ้าเป็น 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอทนั้นจัดว่าความดันเริ่มสูงแล้ว แต่ยังไม่ถือว่าเป็นโรค ถ้า 140-159/90-99 จัดเป็นผู้ป่วยโรคความดันสูงแล้ว ถึงแม้จะยังไม่รุนแรง แต่ก็ต้องเริ่มได้รับการรักษาจากแพทย์แล้ว ส่วนอีก 2 ระดับที่เหลือตามตารางคือ รุนแรงปานกลาง (Moderate) และรุนแรงมาก (Severe) ส่วนค่าสุดท้ายอย่าง ISH จัดเป็นความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงเช่นเดียวกันถึงแม้ค่าความดันตัวจะแค่ >=140 เท่านั้น แต่ค่าความดันตัวล่างกลับน้อยมากคือ <90 เท่านั้น ผลต่างระหว่างค่าตัวบนกับตัวล่างสูงมาก ถ้าหากค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างอยู่ต่างระดับกัน เช่น 165/85 ก็ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงแบบปานกลางถึงแม้ค่าความดันตัวล่างจะอยู่ในระดับสูงธรรมดาเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามความดันโลหิตของคนแต่ละวัยก็จะแตกต่างกัน ยิ่งอายุมากความดันโลหิตจะยิ่งสูงขึ้นตามธรรมชาติ เพราะหลอดเลือดแข็งตัวมากขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง แถมบางคนชอบทานอาหารที่มีไขมันสูงอีกด้วย ดังนั้นจึงมักจะนิยมใช้ความดันโลหิตของวัยรุ่นที่มีอายุ 18 มาเป็นเกณฑ์ เพราะเป็นช่วงที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุด หัวใจและหลอดเลือดก็แข็งแรง เส้นเลือดยืดหยุ่นกำลังดี เพราะฉะนั้นถ้าสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ก็ควรมีความดันโลหิตเท่าๆกับช่วงอายุ 18 ถ้ามากก็นี้ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ร่างกายของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป บางคนจึงมีอาการความดันโลหิตต่ำทั้งที่ร่างกายไม่ได้ผิดปกติอะไร ดังนั้นหากความดันโลหิตต่ำจริงๆ แต่ว่าไม่รู้สึกหน้ามืด วิงเวียนศีรษะหรือมีอาการอื่นที่กระทบต่อการใช้ชีวิต ก็ไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากผู้หญิงวัยรุ่นบางคนอาจมีปัญหาความดันโลหิตต่ำได้ในช่วงมีประจำเดือน เพราะฮอร์โมนในร่างกายหลายตัวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันก็ส่งผลต่อความดันได้เช่นเดียวกัน แต่กับความสูง มักไม่ได้สูงจากธรรมชาติแต่สูงเพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริงๆ

อาการ

อาการและโรคที่มาพร้อม ความดันโลหิตสูง-ต่ำ

  1. โรคความดันโลหิตต่ำ

คือภาวะที่ความดันในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติคือต่ำกว่า 90-60 มิลลิเมตรและต้องมีอาการป่วยแสดงออกมาด้วย ถ้าหากความดันต่ำเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แพทย์จะไม่นับว่าเป็นอาการป่วยและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด แต่ถ้าป่วยจริง มักจะมีอาการแสดงออกมาหลากหลาย เช่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ สับสน ตัวเย็นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เป็นลม อาจมีอาการรุนแรงอาจช็อคได้เลยทีเดียว แต่อันตรายจากโรคนี้ไม่ได้มาจากโรคโดยตรง แต่มักจะเกิดขึ้นเพราะหน้ามืดหกล้มแล้วเกิดอุบัติเหตุรุนแรงตามมามากกว่า

  1. โรคความดันโลหิตสูง

คือภาวะที่ความดันในหลอดเลือดแดงสูงมากกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวเพราะไม่ค่อยปรากฏอาการผิดปกติ กว่าจะรู้หลายรายก็อาการหนักจนรักษาได้ยากแล้ว หากรู้ก็มักจะรู้โดยบังเอิญจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆแล้วต้องไปตรวจวัดความดันโลหิตด้วยนั่นเอง เพราะเหตุนี้โรคความดันโลหิตสูงจึงไม่ต่างจากมัจจุราชเงียบที่คอยคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายอย่างไม่รู้ตัว ปัจจุบันนี้โรคนี้ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนทั่วโลก แถมยังเป็นบ่อเกิดของโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นอีกเพียบ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หัวใจล้มเหลว โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต เป็นต้น สำหรับอาการหากป่วยในระดับที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลาง แทบจะไม่มีอาการใดแสดงออกมาเลย ส่วนจะรู้เมื่อป่วยรุนแรงแล้วโดยจะมีอาการหายใจสั้น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เลือดกำเดาไหล เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ก็เป็นอาการที่ไม่จำเพาะและสามารถเป็นอาการของโรคใดก็ได้ ดังนั้นจึงอยากแนะนำวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวัง หากพบว่าเป็นจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

สาเหตุ

สาเหตุของ ความดันโลหิตสูง-ต่ำ

  1. โรคความดันโลหิตต่ำ

โดยปกติความดันโลหิตสามารถลดต่ำลงได้ตามความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่แล้ว เช่น นอนหลับ เครียด ช่วงเวลาในแต่ละวัน การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์ ยารักษาโรคบางชนิด การเจ็บป่วย การตั้งครรภ์ การติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น

  1. โรคความดันโลหิตสูง

ปัจจุบันนี้แบ่งออกได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงไม่สามารถระบุถึงสาเหตุได้ กับกลุ่มที่ทราบสาเหตุ ในกลุ่มหลังอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การตั้งครรภ์ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต การใช้ยารักษาโรค โรคไต โรคไทรอยด์ การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เป็นต้น

ป้องกัน

วิธีป้องกัน ความดันโลหิตสูง-ต่ำ

  1. วิธีป้องกัน ความดันโลหิตสูง

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ใครที่รู้ตัวว่าติดทานรสเค็มจัด ชอบปรุงรสเยอะๆหรือใส่ผงชูรสปริมาณมาก ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในข้อนี้เสีย พยายามปรุงรสให้อ่อนลง ไม่ใส่พวกผงปรุงหรือซอสปรุงรสมากเกินไป เน้นทำอาหารทานเองที่บ้านเพราะสามารถควบคุมการปรุงอาหารได้ ในตอนแรกอาจรู้สึกลำบากเล็กน้อย เพราะฉะนั้นแนะนำให้ค่อยๆลด เพราะถ้าหักดิบไปเลยอาจตบะแตกแล้วกลับมีพฤติกรรมการทานอาหารแบบเดิมได้ สำหรับโซเดียมต้องจำกัดเอาไว้เลยว่าต้องไม่เกิน 2,200-2,300 มิลลิกรัม/วัน ในส่วนของไขมันก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะหากทานแต่ไขมันไม่ดี ก็จะไปเกาะสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นทานไขมันในปริมาณที่เหมาะสมและเลือกทานเฉพาะไขมันดีเท่านั้น เช่น ไขมันจากเนื้อปลา อะโวคาโด ธัญพืช น้ำมันมะกอก เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นเดียวกัน ช่วยป้องกันโรคนี้ได้ดีมาก หรือถ้าป่วยไปแล้วก็ยังส่งผลดีต่อโรคเช่นเดียวกัน หากออกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะดีต่อโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกหลายโรคเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามก่อนจะเริ่มออกกำลังกายแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถออกกำลังกายประเภทใดได้บ้างจึงจะปลอดภัยที่สุด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากน้ำหนักมากเกินเกณฑ์หรืออ้วนจะเสี่ยงป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากยิ่งขึ้น เพราะปริมาณไขมันมักจะมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ ดังนั้นจึงควรควบคุมน้ำหนักให้ดี ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆจะได้ลดลงอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ก่อให้เกิดกระทบหลายอย่าง เช่น เพิ่มปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มความดันโลหิต ทำให้น้ำหนักขึ้นง่ายขึ้น เป็นต้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เสีย หากเลี่ยงไมได้จริงๆก็ต้องจำกัดปริมาณการดื่มแทน
  • ไม่เครียด ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เมื่อประสบกับความเครียด ต้องหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสม อาจจะระบายออกไปด้วยการพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท หรือว่าจะทำกิจกรรมคลายเครียดอย่างอื่น เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกายฯลฯ ก็ได้เช่นเดียวกัน เมื่อไม่เครียด ความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคความดันโลหิตก็จะลดลงตามไปด้วย
  1. วิธีป้องกัน ความดันโลหิตต่ำ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ และดื่มให้มากกว่าปกติเล็กน้อยเมื่อต้องอยู่อาศัยในสภาพอากาศร้อนจัดหรือกำลังเจ็บป่วยด้วยการติดเชื้อ อย่างพวกไข้หวัด เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยปรับความดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือทำสปาร้อนเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะได้
  • งดยืนเป็นเวลานาน ไม่ยกของหนักมากเกินไป ไม่เปลี่ยนอิริยาบถแบบเร็วๆ
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
  • ทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ แบ่งอาหารให้เป็นมื้อย่อยแต่ทานให้บ่อยยิ่งขึ้นแทน ไม่ทานคาร์โบไฮเดรตเยอะเกินไปและเมื่อทานเสร็จก็ต้องนั่งพักก่อนจะไปทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย

รักษา

วิธีดูแล รักษา ความดันโลหิตสูง-ต่ำ

  1. วิธีการดูแล รักษา ความดันโลหิตสูง

โดยหลักๆแล้วจำเป็นต้องทานยาเป็นประจำเพื่อควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป ยาที่ใช้ก็มีกันอยู่ หลายตัวขึ้นอยู่สาเหตูของการเป็นความดันสูง เช่น

  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ช่วยกำจัดโซเดียมออกจากร่างกายได้มากขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตได้ แต่มักต้องใช้ควบคู่กับยาลดความดันประเภทอื่นๆด้วย
  • ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) ช่วยยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนจิโอเทนซิน 2 ฮอร์โมนนี้เพิ่มการตีบตันให้หลอดเลือด ความดันจึงสูงมากขึ้น ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนชนิดนี้ทำงานลดลง หลอดเลือดจึงตีบตันน้อยลงแถมหัวใจไม่ต้องทำงานหนักมากเหมือนเดิมอีกด้วย
  • ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) มีผลทำให้หัวใจบีบตัวน้อยลง หัวใจจะเต้นช้าและมีแรงต้านน้อย ช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นเดียวกัน

ยาที่ใช้รักษาลดความดันโลหิตยังมีอีกหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งคนไข้จะได้ใช้ยาชนิดไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ทั้งนี้สำคัญมากที่คนไข้ต้องไปรับยาตามนัดและทานอย่างสม่ำเสมอ ห้ามปรับเพิ่ม-ลดขนาดยาเองหรือหยุดทานยาเองโดยเด็ดขาด อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากการทานยาแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างควบคู่ไปกับการรักษาด้วย เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดการทานอาหารมันๆทอดๆและอาหารรสเค็มจัด เน้นผัก ผลไม้ให้มากขึ้น หากเป็นเนื้อสัตว์แนะนำให้ทานปลา เพราะย่อยง่าย มีไขมันดีปริมาณมาก ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรง งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ(ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย)และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  1. วิธีการดูแล รักษา ความดันโลหิตต่ำ

  • ปรับเปลี่ยนอิริยาบถครั้งละช้าๆ เช่น การลุกนั่งหรือลุกยืน เป็นต้น โดยเฉพาะการลูกนั่งในช่วงตื่นนอน เพราะหากลุกเร็วเกินไป อาจหน้ามืดแล้วหกล้มได้ ในขณะนอนสามารถขยับเท้าไปมาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตได้ เวลาจะลุก ค่อยๆเอียงตัวลุกขึ้นแล้วนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงก่อนแล้วค่อยยืนขึ้น หรือจะเคลื่อนไหวแขนขาก่อนจะลุกก็ได้ เลือดจะไหลเวียนได้ดีมากขึ้น ช่วยลดอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะจากากรลุกแบบปุบปับได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในเวลากลางคืน ป้องกันการเกิดปัญหานอนไม่หลับ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ เลือกสวมถุงน่องที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ ช่วยเพิ่มระดับความดันและไม่รัดแน่นจนเกินไป อย่างไรก็ตามถุงน่องชนิดนี้อาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน เพราะฉะนั้นอย่าลืมปรึกษาแพทย์ให้ละเอียดก่อนใช้
  • ทานยารักษาความดันโลหิตต่ำ ในกรณีที่ดูแลตัวเองตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยามาให้เพื่อเพิ่มปริมาณเลือดให้ร่างกาย เพิ่มความดัน จะได้ผลค่อนข้างดีในกลุ่มผู้ป่วยที่ความดันต่ำเพราะยืนนานๆหรือเปลี่ยนอิริยาบถเร็วๆ
  • รักษาที่ต้นเหตุ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการความดันต่ำจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาโรคเหล่านี้ให้หายดีก่อน โรคความดันต่ำจึงจะดีขึ้นได้
  • ความดันต่ำจากการใช้ยารักษาโรค หากแพทย์วินิจฉัยเรียบร้อยแล้วว่าเกิดจากสาเหตุนี้จริงๆ แพทย์ก็จะพิจารณาปรับขนาดยาลงหรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน แต่ถ้าเปลี่ยนไมได้จริงๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาตรวจวัดความดันกันเป็นระยะๆ
  • คุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารในหมู่คาร์โบไฮเดรต พอทานเสร็จต้องนั่งพักก่อนเพื่อป้องกันอาการกำเริบในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นความดันต่ำหลังทานอาหาร นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการทานยาลดความดันก่อนมื้ออาหารด้วย
  • เวลานอน แนะให้นอนหมอนสูงเพื่อให้ศีรษะอยู่สูงกว่าปกติ เป็นผลดีกับผู้ป่วยโรคนี้มากกว่านอนหมอนต่ำ

ความดันโลหิตเป็นสิ่งที่สามารถชี้วัดสภาวะสุขภาพของคนเราได้ ดังนั้นพยายามไปตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามว่ายังอยู่ในระดับปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที ถึงแม้โรคนี้จะเป็นโรคเรื้อรังที่อันตรายมากหากตรวจพบช้า แต่ถ้าพบไวและรักษาทันก็จะควบคุมโรคให้อยู่ในความสงบได้ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , , , , , ,