ไอเรื้อรัง คืออะไร | อาการ สาเหตุ ป้องกัน วิธีแก้

ไอเรื้อรัง

อาการไอเรื้อรัง ถ้าใครไม่เคยเป็นคงไม่เข้าใจว่าน่ารำคาญมากขนาดไหน ไอจนเหนื่อย ไอจนเจ็บท้อง ไอกันอยู่นานหลายสัปดาห์ก็ไม่ดีขึ้นสักที เมื่อมีอาการแบบนี้บางคนอาจจะคิดแค่ว่าแค่ไอธรรมดาทั่วไป แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะอาการไอที่มีอยู่อาจเป็นสัญญาณของ ”การไอเรื้อรัง” ที่ร่างกายกำลังส่งสัญญาณบอกว่ามีปัญหาสุขภาพอื่นซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายได้ วันนี้จึงอยากจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจเรื่องการไอเรื้อรังกันให้มากขึ้น เพราถ้ารู้จักกันอาการนี้กันดีแล้ว จะได้สังเกตสิ่งปกติกันได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังป้องกันและแก้ไขกันได้อย่างเหมาะสมด้วย

ไอเรื้อรัง คืออะไร

ไอเรื้อรัง (Chronic Cough) คือภาวะสุขภาพที่มีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับผู้ใหญ่คือ 8 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนเด็กจะอยู่ที่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป จริงๆแล้วการไอเรื้อรังไม่ใช่โรค แต่มักจะเป็นอาการที่เกิดจากปัจจัยอื่นหรือไม่ก็มีปัญหาสุขภาพแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว หากกำจัดสาเหตุดังกล่าวออกไปได้ อาการไอเรื้อรังก็จะหายไปด้วย

ถึงแม้การไอจะเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ แต่ว่ามันคือกลไกการป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งของร่างกาย การไอเกิดขึ้นเพราะร่างกายต้องการขับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ออกจากระบบทางเดินหายใจ เพราะฉะนั้นมันจะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคลงได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง การไออาจแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน ในแต่ละวันคนเราหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอดกันอย่างมากมาย ซึ่งในอากาศก็ไม่ได้มีแค่แก๊สที่จำเป็นต่อการหายใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีมลพิษบางอย่างปะปนมาด้วย เช่น เชื้อโรค เชื้อรา ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ สารเคมี ฝุ่นละออง เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วถ้ามลพิษเหล่านี้มีขนาดใหญ่เกินกว่า 10 ไมครอน มักจะติดอยู่ที่โพรงจมูกหรือทางเดินหายใจส่วนบน แต่ว่าก็มีมลพิษบางส่วนที่มีขนาดเล็กกว่านั้นหลุดลอดลงไปในทางเดินหายใจส่วนล่างได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้ามลพิษขนาดเล็กนี่เองที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สำหรับมลพิษเล็กๆเหล่านี้เมื่อลงไปด้านล่างจะถูกร่างกายกำจัดออกมากัน  2 รูปแบบคือ เสมหะและการไอ

อาการ

ไอเรื้อรัง มีอาการอย่างไร

อาการสำคัญคือ ไอติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีเสมหะปนออกมาหรือไม่มีก็ได้ นอกจากการไอแล้วอาจจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยขึ้นอยู่กับว่าที่ไอเรื้อรังนั้นเกิดจากสาเหตุใด ดังนี้

  • เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • เจ็บคอง่าย ต้องกระแอมบ่อยๆ
  • เสียงแหบ หายใจติดขัด หายใจมีเสียงหวีด
  • เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน รู้สึกเหนื่อยแบบไม่มีสาเหตุในตอนกลางคืน
  • แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว อาหารไม่ย่อย

หากมีอาการไอติดต่อกันหลายสัปดาห์ ไอจนส่งผลต่อการเรียน การนอนหลับหรือการใช้ชีวิตหรือว่าไอแล้วมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • ไอมีเลือดปน
  • ไอเรื้อรังหลังจากใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
  • ไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด
  • กลืนอาหารลำบาก
  • ปอดอักเสบบ่อยครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนและกลุ่มเสี่ยง

ส่วนใหญ่แล้วภาวะแทรกซ้อนของการไอคือความลำบากในการใช้ชีวิต เพราะว่าถ้าไอเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากพอสมควร รวมทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมาได้อีก ดังนี้

  • ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ปัสสาวะเล็ด
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • นอนไม่หลับ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อฉีกขาด บางรายที่ไอหนักมากอาจกระดูกซี่โครงหักได้
  • มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนมากขึ้น
  • เหงื่อออกมากผิดปกติในเวลากลางคืน

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะไอเรื้อรังนั้นมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อนหรือโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น

สาเหตุ

สาเหตุของ การไอ

การไอเรื้อรังนั้นมักมาจากปัญหาสุขภาพ อาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือเกิดจากหลายสาเหตุรวมกันก็ได้ ดังนี้

  1. สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือไม่ได้สูบแต่ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำก็ทำให้ไอเรื้อรังได้เช่นเดียวกัน
  2. ป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ หืดหอบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
  3. โรคกรดไหลย้อน เพราะกรดจากกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นที่ทางเดินอาหารส่วนบน สร้างความระคายเคืองให้เยื่อบุหลอดอาหาร จะรู้สึกเจ็บคอบ่อยหลังตื่นนอน และมีอาการไอแห้งเรื้อรังร่วมด้วย
  4. ผู้ป่วยโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ มีน้ำมูกหรือเสมหะไหลลงคอ
  5. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะไหลลงคอในเวลานอน จึงทำให้มีอาการไอเรื้อรังได้
  6. การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอย่างยารักษาโรคความดันสูงและโรคหัวใจ อาจมีผลข้างเคียงทำให้ไอเรื้อรังได้ ซึ่งจะพบได้ราวร้อยละ 2-14 ของผู้ที่ใช้ยานี้ อาการมักจะเกิดขึ้นหลังใช้ยาไปแล้ว 3-4 สัปดาห์โดยจะไอแบบไม่มีเสมหะ ไอมากในเวลากลางคืนหรือในขณะนอนราบ
  7. ผู้ที่ต้องใช้เสียงมากและพักผ่อนน้อย เช่น นักร้อง พ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น แต่ว่าถ้างดใช้เสียงไปสัก 2-3 วัน อาการจะค่อยๆดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอีกบางประการที่ทำให้ไอเรื้อรังได้เช่น ไอกรน หลอดลมฝอยอักเสบ หลอดลมพอง มะเร็งปอด เป็นต้น แต่เป็นสาเหตุที่พบได้ค่อนข้างน้อย

ป้องกัน

วิธีป้องกัน การไอ

  1. เลิกสูบบุหรี่

เพราะนี่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอเรื้อรัง นอกจากจะทำร้ายตัวเองแล้ว ถ้าคนอื่นสูดควันบุหรี่ของตัวเองเข้าไปก็มีโอกาสที่จะไอเรื้อรังหรือป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจได้เช่นเดียวกัน

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังหรือป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินอาหาร

หากจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าลืมสวมใส่หน้าหากอนามัยอยู่เสมอด้วย

  1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

ทานอาหารที่มีประโยชน์และมีเส้นใยสูง โดยเฉพาะผักผลไม้ เพราะมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าเส้นใยและสารฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในผักผลไม้ อาจช่วยป้องกันการไอได้

รักษา

วิธีแก้ไอ

  1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

เริ่มจากทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหมอนสูงช่วยบรรเทาอาการไอแห้งได้ ดื่มน้ำให้มากๆช่วยให้ชุ่มคอ ลดปริมาณเชื้อโรค ลดความเหนียวข้นของเสมหะ แนะนำให้ดื่มเป็นน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งหรือมะนาว อาการจะทุเลาได้ไวขึ้น

  1. อาบน้ำอุ่น

ช่วยทำให้จมูกโล่ง ลดอาการไอลงได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการไอที่เกิดจากภูมิแพ้หรือไข้หวัด

  1. ยาอมแก้ไอ

ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการระคายเคือง ทำให้ไอน้อยลง

  1. เครื่องทำความชื้น

ถ้าอากาศแห้งมาก เยื่อบุโพรงจมูกจะแห้ง น้ำมูกก็แห้งและแข็งตัว ทำให้ไม่สบายจมูก คัดจมูก ระคายเคืองในลำคอและทำให้ไอได้เช่นเดียวกัน แนะนำให้ลองใช้เครื่องทำความชื้นดู จะช่วยเพิ่มความชื้นให้อากาศมากยิ่งขึ้น

  1. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ทุกรูปแบบ

ทั้งแบบสูบเองและควันบุหรี่มือสอง

  1. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม

ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีกลิ่นหอมอาจทำให้โพรงจมูกระคายเคืองจนไอเรื้อรังได้โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำผอมปรับอากาศ น้ำหอม สเปรย์สำหรับใช้ในรถ เป็นต้น หากจะใช้ก็อย่าลืมทดสอบดูก่อน โดยการใช้เพียงเล็กน้อย หากไม่มีอาการไอหรือเจ็บคอก็สามารถใช้ต่อได้

  1. หลีกเลี่ยงการสูดดมสิ่งที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง

เช่น ทินเนอร์ สีทาบ้าน ฝุ่น ควันรถ น้ำยาเคมีชนิดต่างๆ หากจำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันทุกครั้ง แต่เนื่องจากมลพิษมีกันอยู่หลายแบบหลายขนาด เพราะฉะนั้นเวลาซื้อต้องเลือกให้เหมาะสม จะได้ป้องกันกลิ่นหรือมลพิษทางอากาศได้ดีมากยิ่งขึ้น

  1. ยารักษาโรค

โดยทั่วไปแล้วถ้าอาการไอเรื้อรังไม่ได้มาจากการเจ็บป่วยที่รุนแรง การดูแลตัวเองด้วยแนวทางการปฏิบัติด้านบนนั้นจะช่วยบรรเทาการไอได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามหากไมได้ผล อาจต้องใช้วิธีการทานยา ซึ่งจะไปพบแพทย์แล้วให้แพทย์จ่ายยาให้ก็ได้ หรือจะซื้อมาทานเองก็ได้ แต่ว่าในกรณีหลังจะต้องสอบถามข้อมูลการใช้ยามาอย่างละเอียดก่อนจะทานด้วย สำหรับยาที่ช่วยลดอาการไอได้มีกันอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น

  • ยาลดน้ำมูก (Decongestants) มีหลายชนิดทั้งแบบยาเม็ด ยาน้ำ ยาพ่นจมูก ข้อดีคือช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อในโพรงจมูก หลอดเลือดจมูกและปอดหดเล็กลง หากใช้อย่างเหมาะสมจะช่วยลดอาการไอได้ แต่ว่าข้อควรระวังในการใช้ยาก็มีเช่นเดียวกัน หากเป็นยาพ่นจมูก ควรใช้แค่ 3-4 วัน เมื่ออาการดีขึ้นต้องหยุดใช้ทันที หากใช้นานกว่านั้นอาการคัดจมูกอาจจะกลับมาใหม่ได้ ทำให้มีน้ำมูกและเสมหะตามเดิม ส่วนยาชนิดทานบางตัวอย่าง ยาฟีนิลเอฟรีน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะว่าอาจกระตุ้นให้ความดันสูงกว่าเดิมได้
  • ยาแก้แพ้ บรรเทาอาการแพ้ ช่วยให้คัดจมูกน้อยลง สารคัดหลั่งที่ผลิตจากปอดก็น้อยลงเช่นเดียวกัน แต่ว่าถ้าจะใช้ยานี้ต้องระมัดระวังในเรื่องการทำให้รู้สึกง่วงซึม เพราะฉะนั้นไม่ควรทานในขณะขับรถหรือใช้เครื่องจักรกลหนัก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  • ยาแก้ไอ ช่วยรักษาอาการไอโดยเฉพาะ ผลข้างเคียงของยาตัวนี้จะคล้ายกับยาแก้แพ้ เพราะฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ในขณะใช้ยานี้ด้วย เนื่องจากมันอาจทำให้ง่วงซึมมากขึ้น
  • ยาขับเสมหะ ในรายที่ไอแบบมีเสมหะ การใช้ยาขับเสมหะจะช่วยลดปริมาณเสมหะลงและทำให้ไอน้อยลงได้

อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ไม่ควรซื้อยามาให้เด็กทานเอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อเด็กได้ แนะนำให้พาไปพบแพทย์แล้วทานยาตามแพทย์สั่งจะดีกว่า

  1. รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง

หากอาการไอเรื้อรัวที่เป็นอยู่นั้นมีสาเหตุมากจากการเจ็บป่วย อย่างเช่น โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิ โรคปอดอักเสบฯลฯ หากรักษาจนหายดีหรือควบคุมโรคให้อยู่ในภาวะสงบได้ อาการไอเรื้อรังก็จะหายไป

อาการไอเรื้อรังเป็นภาวะสุขภาพไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะว่ามักเป็นการไอที่มีสาเหตุอื่นแอบแฝงอยู่ บางครั้งก็เป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคที่อาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อร่างกายได้ เพราะฉะนั้นหากไอติดต่อกันนานหลายสัปดาห์โดยที่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มแย่ลงต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ในระหว่างที่มีอาการต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอด้วย เพราะหากป่วยจริงๆจะได้ช่วยลดการแพร่เชื้อโรคออกสู่สิ่งแวดล้อมได้

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , , , , ,