ปวดเข่า เพราะอะไร? ใครเสี่ยง? | อาการ สาเหตุ ป้องกัน รักษา

ปวดเข่า อาการ สาเหตุ ป้องกัน รักษา การดูแล

ปวดเข่า อาการที่ใครหลายๆคนอาจเคยเป็น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวัยผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะมีอาการปวดเข่า การปวดเข่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย การวินิจฉัยอาการปวดเข่านั้น ต้องมีข้อมูลประกอบหลายๆอย่างร่วมกัน เพราะบางที อาการปวดเข่า ก็เป็นเพียงอาการแสดงของโรคบางโรคเท่านั้น เช่น โรคข้อเสื่อม โรคเก๊าต์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบเฉียบพลัน หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุก็ได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำการรักษาต้องดูสาเหตุให้แน่ชัดเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง วันนี้เรามาศึกษาอาการปวดเข่ากันอย่างละเอียดสักหน่อยเพื่อจะได้รู้สาเหตุและวิธีการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

โครงสร้างเข่า ปวดเข่า
รูป โครงสร้างเข่า

มารู้จักโครงสร้างของข้อเข่ากันก่อน

บริเวณข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกต้นขา(Femur) กระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และ กระดูกสะบ้า (Patella) กระดูกทั้ง 3 ชิ้นยึดติดกันด้วยเส้นเอ็น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้ข้อเข่าแข็งแรง ที่บริเวณผิวของข้อเข่าจะมีเยื่อบุข้อเซลล์ประสาทรับความรู้สึก และมีกระดูกอ่อน (Cartilage) ซึ่งมีหน้าที่รองรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นขณะมีการเคลื่อนไหว ภายในข้อเข่าจะมีน้ำหล่อเลี้ยง (Synovial Fluid) ซึ่งช่วยในการหล่อลื่น ถ่ายน้ำหนัก และป้องกันการสึกของข้อเข่า

ปวดเข่า คืออะไร?

ปวดเข่า คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อที่เชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งเป็นบริเวณที่คอยรองรับน้ำหนักของร่างกาย อาการปวดเข่าเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้งานเข่าอย่างสมบุกสมบันโดยไม่มีการป้องกัน

อาการ

อาการปวดเข่า

  • มีอาการปวดเวลางอเข่าหรือเวลายืดเข่าออก
  • ผิวบริเวณรอบหัวเข่ามีลักษณะบวมแดง ร้อน
  • เวลาขยับบริเวณเข่าอาจมีเสียงดังกรอบแกรบ
  • มีอาการปวดเวลาลุก นั่ง หรือยืน ไม่สามารถนั่งคุกเข่า พับเพียบ หรือขัดสมาธินานๆได้
  • มีอาการชาบริเวณขา
  • หัวเข่ามีรูปร่างที่ผิดปกติ

อย่างไรก็ตามอาการปวดเข่า ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และ บริเวณที่ปวด ซึ่งอาการปวดเข่า แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ ดังนี้

สาเหตุ
  1. อาการปวดเข่าที่เกิดจากการบาดเจ็บ

ข้อเคล็ด

เกิดจากการบาดเจ็บบริเวณเอ็นข้อต่อที่ยึดระหว่างกระดูกสองชิ้นซึ่งทำให้กระดูกข้อต่อผิดรูปหรือเกิดการฉีกขาด อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการรับแรงกระแทกมากเกินไป

กล้ามเนื้อฉีก

เกิดจากการที่กล้ามเนื้อถูกดึงยืดหรือหดอย่างรวดเร็วจนเกิดไป ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด

เส้นเอ็นอักเสบ

มักเกิดขึ้นกับนักกีฬาที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายไม่ถูกต้อง เช่น การเกิดเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าบาดเจ็บมักเกิดจากการเปลี่ยนท่าหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว จะได้ยินเสียงดังกึก เพราะเส้นเอ็นฉีกขาด หัวเข่าจะมีอาการบวมทันที และเจ็บปวดมากเวลาลงน้ำหนัก

ถุงน้ำบริเวณหัวเข่าอักเสบ

มักเกิดกับผู้ที่ใช้งานบริเวณหัวเข่ามากเกินไปเช่นการคุกเข่าบนพื้นผิวที่มีความแข็ง ทำให้ถุงน้ำที่ทำหน้าที่ลดการเสียดสีบริเวณหัวเข่าอักเสบ

กระดูกหัก

มักเกิดจากอุบัติเหตุทางรถ การเล่นกีฬา การตกจากที่สูง หรือการล้ม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมแดงที่เข่า เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ หัวเข่าผิดรูป

  1. อาการปวดเข่าที่เกิดจากโรคไขข้อต่างๆ

โรคข้อเข่าเสื่อม

เป็นโรคที่พบมากที่สุด และผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่มักมีอาการปวดเข่าเป็นอาการที่แสดงออกมากเด่นชัดมาก ดังนั้น เราจะพูดเจาะลึกถึงโรคข้อเข่าเสื่อมมากสักหน่อย

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

เกิดจากการเสื่อมตามวัย หรือข้อรับน้ำหนักมากเกินไปหรือมีการบาดเจ็บ ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อต่อสึกกร่อน และมีกระดูกงอก(หินปูนเกาะ) ขรุขระเวลาเคลื่อนไหวข้อจึงทำให้เกิดอาการปวดขัดในข้อ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น อายุมาก น้ำหนักตัวที่มากเกินไป การใช้งานเข่ามากเกินไป กรรมพันธุ์ เป็นต้น

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดขัดในข้อ อาการเป็นเรื้อรังนานเป็นเดือน หรืออาจเป็นปี เวลาเคลื่อนไหวจะมีเสียงดังกรอบแกรบ เวลาที่จะลุกขึ้นยืน หรืองอเข่าจะรู้สึกปวดมาก อาการปวดข้อมักเป็นมากขึ้นตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเย็น บริเวณข้อเข่าจะไม่มีอาการบวมแดงแต่อย่างไร แต่บางครั้งอาจบบวมได้หากเกิดการอักเสบอื่นๆ

โรคปวดข้อรูมาตอยด์

เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในช่วงอายุ20-50ปี

สาเหตุของโรครูมาตอยด์

เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างแอนติบอดีที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อ เรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง หรือ ออโตอิมมูน

อาการของโรครูมาตอยด์

ผู้ป่วยมักมีอาการค่อยเป็นไปค่อยไป เริ่มจากอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกในช่วงแรก หลังจากนั้นจะมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็นชัดเจน ข้อที่อักเสบก่อนจะเป็นข้อนิ้ว ข้อเท้า ข้อเข่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะเฉพาะคืออาการปวดข้อจะเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง ข้อจะบวมแดงร้อน นิ้วมือและเท้าจะบวมเป็นรูปกระสวย

โรคเกาต์

เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคเกาต์

เกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไป และไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกอยู่ตามสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่นๆ

อาการของโรคเกาต์

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณข้อต่อที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน บริเวณข้อจะมีลักษณะบวมแดง มักจะเกิดขึ้นบริเวณข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บมากจนเดินไม่ได้

ภาวะแทรกซ้อนจากการปวดเข่า

อาการปวดเข่ามักไม่มีอาการแทรกซ้อน หากได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำให้เหมาะสม เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอาการปวดเข่าควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อมีอาการไม่ควรซื้อยารับประทานเองเพราะอาจเป็นอันตรายได้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดเข่าของเราเกิดจากอะไร

  1. แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย เช่น รู้สึกปวดมากี่วัน อาการเป็นอย่างไรบ้าง หรือสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย
  2. การตรวจร่างกาย หลังจากสอบถามอาการเบื้องต้นแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยการดูจากภายนอกและ การทดสอบการเคลื่อนไหว การหมุนเข่า การยืดเข่า การเดิน เพื่อเป็นการทดสอบว่าอาการปวดเข่าของคุณรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
  3. ใช้เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไปการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
  4. การเอกซเรย์ (X-Ray)
  5. อัลตราซาวด์ (Ultrasound)
  6. การใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  7. การเจาะระบายน้ำในข้อ (Joint Aspiration)
ปวดเข่า ใครเสี่ยง
รูป ปวดเข่า

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อ การปวดเข่า

  1. อายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม
  2. อายุ 60 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  3. เพศหญิง พบมากว่ามีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะเพิ่มแรงกดที่ข้อเข่ามากขึ้น และเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
  5. ผู้ที่ใช้งาน ท่าทาง หรือ กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่า เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นบันไดบ่อยๆ
  6. นักกีฬา ที่ใช้การกระโดดในท่าทางต่างๆที่ต้องมีผลกระทบกับหัวเข่า หรือ อาจเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
ป้องกัน

วิธีป้องกันอาการปวดเข่า

การป้องกันอาการปวดเข่า ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุนั้น คุณสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  1. ไม่ปล่อยให้มีน้ำหนักตัวมากจนเกินไป ควรรับประทานที่มีประโยชน์ และออกกำลังสม่ำเสมอ
  2. บริหารกล้ามเนื้อเข่า กล้ามเนื้อหน้าแข้งให้แข็งแรง เช่น เดินขึ้นบัน ปั่นจักรยาน หรืออาจใช้ถุงใส่ทรายผูกกับข้อเท้านั่งห้อยขาแล้วยกขึ้นลงก็ได้
  3. ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆ
  4. ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องใช้หัวเข่าเป็นเวลานานๆเช่น การนั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรือยืนเป็นเวลานานๆ หากต้องคุกเข่านานๆให้หาเบาะรองนิ่มรองที่หัวเข่าเพื่อลดการกระทบกระเทือนเป็นเวลานานๆเพราะจะทำให้เข่าเสื่อมได้
  5. ก่อนการเล่นกีฬาทุกครั้งควร อบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  6. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะเกิดการกระแทกบริเวณหัวเข่าเช่น การกระโดด การยกของหนัก ลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว การหมุนขาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
  7. นักกีฬาควรเล่นกีฬาด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่ากะทันหัน หรือ การปะทะที่รุนแรง
  8. ควรสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า
  9. การนอนสำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า ควรนอนบนเตียงที่มีความสูงอยู่ที่ระดับเข่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนอนราบไปกับพื้นเนื่องจากเวลาลุกขึ้นจะต้องใช้แรงจากข้อเข่าอย่างมาก
  10. การใช้ห้องน้ำสำหรับผู้ที่มีปัญหาเข่า ควรใช้ห้องน้ำที่เป็นชักโครกเท่านั้น ไม่ควรใช้ห้องน้ำที่เป็นแบบนั่งยองเพราะเวลาลุกขึ้นยืนหรือแม้กระทั่งเวลานั่งก็จะรู้สึกปวดเข่าเป็นอย่างมาก
รักษา

การรักษาอาการปวดเข่า

การรักษาอาการปวดเข่านั้น สามารถทำได้หลายวิธีแล้วแต่สาเหตุของโรค และ ระดับความรุนแรงของการปวด

การรักษาอาการปวดเข่าที่ไม่รุนแรง

  1. การรับประทานยาตามอาการและโรคที่เป็นเช่น หากเป็นโรคเรื้อรังเช่น โรคเก๊าต์ โรคข้อรูมาตอยด์ ก็ใช้ยารักษาโรคเรื้อรังเพื่อรักษาอาการ หรือ หากเป็นอาการปวดเข่าที่ไม่รุนแรงมากผู้ป่วยอาจรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้ปวด และ ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโปรเฟน หรือ นาพรอกเซน เป็นต้น
  2. การใช้ครีมทาเฉพาะที่ ประเภทยาแก้ปวดและต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น เจลพริก น้ำมันไพร ใช้นวดเพื่อให้เกิดความร้อนเฉพาะที่

การรักษาอาการปวดเข่าที่มีความรุนแรง

  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการบาดเจ็บบริเวณเข่า เช่น การสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้มีความแข็งแรง อาจมีการใช้อุปกรณ์เสริมบ้างเพื่อเป็นการลดแรงกระแทกบริเวณเข่าอาจให้ใส่รองเท้าเฉพาะสำหรับผู้มีอาการปวดเข่า
  • การฉีดยา เพื่อรักษาอาการปวดเข่า เช่น การใช้กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid)เพื่อเพิ่มน้ำหล่อลื่นภายในข้อเข่าเพื่อช่วยให้อาการปวดเข่าลดน้อยลง การเคลื่อนไหวร่างกายสะดวกขึ้น และการใช้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดอาการปวดและอักเสบของข้อเข่า แต่เนื่องยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
  • การผ่าตัด การผ่าตัดผู้ป่วยจะมีส่วนในการตัดสินใจว่าต้องการที่จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ ไม่ใช่คนไข้ทุกรายจะสามารถผ่าตัดได้ ถ้าอาการไม่รุนแรงจริง การผ่าตัดสามารถทำได้ดังนี้
    • การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการใช้กล้องที่มีขนาดเล็กสอดเข้าที่หัวเข่า เพื่อตรวจหาความผิดปกติและเพื่อรักษาข้อเข่า เช่น การซ่อมแซมหมอนรองกระดูกที่เคลื่อน หรือ การนำเศษกระดูกที่เสียหายออกมา
    • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนที่เกิดความเสียหาย การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็กใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน
    • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดข้อเท่าเดิมที่เกิดความเสียหายออกทั้งหมดแล้วนำข้อเข่าที่ทำจากโลหะ หรือ พลาสติกคุณภาพสูงไปทดแทนของเดิม
  • การฝังเข็ม การฝังเข็มเพื่อรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม เป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่ง วิธีการรักษาแพทย์จะใช้เข็มสำหรับการรักษาโดยเฉพาะฝังลงไปบริเวณจุดต่างตามร่างกายของผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาอาการเสื่อมของข้อเข่า
  • 7.การรักษาอาการปวดเข่าสำหรับผู้ที่เกิดอุบัติเหตุ
    • งดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การออกแรงบริเวณหัวเข่าสักระยะ
    • ใช้การประคบบริเวณข้อเข่าด้วยเจลเย็น เพื่อลดการปวดและอักเสบ
    • ใช้ผ้ายืดพันบริเวณเข่าเพื่อเป็นการล็อคให้เข่าอยู่ในท่าปกติ
    • เวลานอนให้วางขาสูงเพื่อลดอาการบวม

การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าต้องทำอย่างไร

  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าจากอุบัติเหตุให้ทำการรักษาตามวิธีการรักษาอาการปวดเข่าสำหรับผู้ที่เกิดอุบัติเหตุที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
  • หากเป็นผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมผู้ดูแลต้องคอยทำอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยไม่ให้ทำกิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกบริเวณเข่ามากเกินไป
  • จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น เตียงนอน ห้องน้ำ ควรจัดให้สะดวกสำหรับการลุกนั่ง
  • หมั่นดูแลผู้ป่วยด้วยการออกกำลังกายเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ บริหารข้อเข่าให้แข็งแรง
FAQ

คำถามที่พบเป็นประจำเกี่ยวกับการอาการปวดเข่า

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดขึ้นแต่กับผู้สูงอายุใช่หรือไม่ ?

โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่จำเป็นต้องเกิดกับผู้สูงอายุเสมอไป ข้อเข่าเสื่อมนั้นสามารถเกิดกับทุกคนที่มีพฤติกรรมการใช้งานข้อเข่าที่มากเกินไป หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณเข่า

ใครบ้างที่เสี่ยงต่ออาการปวดเข่า ?

1. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศหญิง พบมากว่ามีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะเพิ่มแรงกดที่ข้อเข่ามากขึ้น และเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
3. ผู้ที่ใช้งาน ท่าทาง หรือ กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่า เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นบันไดบ่อย
4. นักกีฬา ที่ใช้การกระโดดในท่าทางต่างๆที่ต้องมีผลกระทบกับหัวเข่า หรือ อาจเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นอย่างไร ?

ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดขัดในข้อ อาการเป็นเรื้อรังนานเป็นเดือน หรืออาจเป็นปี เวลาเคลื่อนไหวจะมีเสียงดังกรอบแกรบ เวลาที่จะลุกขึ้นยืน หรืองอเข่าจะรู้สึกปวดมาก อาการปวดข้อมักเป็นมากขึ้นตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเย็น บริเวณข้อเข่าจะไม่มีอาการบวมแดงแต่อย่างไร แต่บางครั้งอาจบบวมได้หากเกิดการอักเสบอื่นๆ

มีการออกกำลังกายสำหรับบริหารข้อเข่า อย่างง่ายๆหรือไม่ ?

มีค่ะ ทุกคนสามารถบริหารข้อเข่าได้ง่ายทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนี้
ท่าบริหาข้อเข่าที่ 1 
1. นั่งหลังตรง ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงนะคะ มือทั้ง 2 ข้างชิดลำตัว
2. ยกแขนข้างซ้ายวางพาดไว้บนขาข้างขวา
3. ใช้มือ2ข้างวางบนเข่าข้างซ้าย ค่อยๆออกแรงกดเข่าช้าๆจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วทำสลับกัน 10 ครั้ง 
ท่าบริหาข้อเข่าที่ 2
1. นั่งหลังตรง มือ2ข้างแนบลำตัวโดยนั่งทับมือทั้ง2ข้างเอาไว้
2. ยกขาข้างใดก็ได้ให้ขนานกับพื้น ค้างไว้10วินาที ทำสลับกัน ข้างละ 10 ครั้ง 
ท่าบริหาข้อเข่าที่ 3
1. นั่งหลังตรง มือ 2 ข้างแนบลำตัว นั่งทับมือไว้
2. ยกขาข้างใดก็ได้ออกไปให้ตรงขนานกับพื้น จากนั้นกระกดข้อเท้าเข้าหาตัวเองให้ได้มากที่สุก ทำค้างไว้ 10 วินาที แล้วค่อยๆคลายข้อเท่าออกวางลง ทำสลับกัน ข้างละ 10 ครั้ง

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , , ,