ระบบย่อยอาหาร คือ? | หน้าที่ ขั้นตอน ความผิดปกติ การดูแล

ระบบย่อยอาหาร

เมื่อพูดถึงระบบต่างๆ ในร่างกายของคนเรานั้นก็มีมากมายหลายระบบ ซึ่งล้วนมีหน้าที่และความสำคัญแตกต่างกันไป โดยวันนี้เราก็จะมาพูดถึงระบบย่อยอาหาร ว่ามีหน้าที่และกระบวนการย่อยอย่างไรบ้าง รวมถึงการดูแลเพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด

ระบบย่อยอาหาร คืออะไร?

ระบบย่อยอาหาร ก็คือระบบที่จะทำหน้าที่ย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวัน และดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นไปใช้ในการบำรุงร่างกายส่วนต่างๆ ต่อไป ซึ่งก็จะมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องและทำหน้าที่สัมพันธ์กันหลายอย่าง โดยหากระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราอย่างมากมายเลยทีเดียว จึงต้องดูแลและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดกับระบบย่อยอาหารอยู่เสมอ

หน้าที่ของอวัยวะต่างๆในการย่อยอาหาร

เรามาดูกันว่ามีอวัยวะใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร และมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างไร

  1. ปาก

ปากคืออวัยวะส่วนแรกของร่างกายที่จะทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ซึ่งจะมีเอนไซม์อะไมเลสเป็นตัวช่วยในการย่อยอีกที โดยแนะนำให้พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุด และเคี้ยวช้าๆ จะเป็นผลดีมากกว่า

  1. คอหอย

คอหอย เป็นอวัยวะที่จะส่งอาหารจากปากไปสู่หลอดอาหาร ซึ่งบริเวณคอหอยนั้นจะไม่มีการย่อยใดๆ เกิดขึ้น

  1. หลอดอาหาร

หลอดอาหารเป็นทางผ่านของอาหารจากปากไปสู่กระเพาะอาหาร โดยจะไม่มีการย่อยในส่วนนี้ แต่จะช่วยให้อาหารมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมได้ เนื่องจากระหว่างกำลังส่งอาหารไปนั้น หลอดอาหารจะมีการบีบรัดตัว เป็นผลให้อาหารมีขนาดที่เล็กลงนั่นเอง

  1. กระเพาะอาหาร

กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่สุดในการย่อยอาหาร ซึ่งจะมีกรดและเอนไซม์หลายชนิดช่วยในการย่อย โดยเฉพาะเอนไซม์เพปซิน (Pepsin) ที่จะทำหน้าที่ในการย่อยโปรตีน ก่อนจะส่งไปถูกดูดซึมที่ลำไส้ต่อไป โดยในส่วนของกระเพาะอาหารนั้นจะดูดซึมได้เฉพาะสารอาหารบางอย่าง เช่น น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุบางชนิด เป็นต้น

  1. ลำไส้เล็ก

ในส่วนของลำไส้เล็กก็จัดว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการย่อยอาหารมากเช่นกัน เพราะสารอาหารส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กทั้งสิ้น โดยหากลำไส้เล็กเกิดความผิดปกติก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสิ่งที่จะถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ได้แก่ โปรตีนและเปปไทด์ ไขมัน และน้ำตาลโมเลกุลคู่ โดยจะมีเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องอีกหลายชนิด เช่น เอนไซม์ทริปซิน (trypsin) เอนไซม์มอลเทส (maltase) และเอนไซม์ลิเพส (lipase) เป็นต้น

  1. ลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่ จะมีหน้าที่ในการกากอาหารที่เหลือที่ได้กลายเป็นอุจจาระ เผื่อเตรียมขับถ่ายออกจากร่างกายผ่านทางทวารหนักต่อไป โดยส่วนนี้จะไม่มีการย่อยใดๆ ทั้งสิ้น

  1. ทวารหนัก

ทวารหนักเป็นอวัยวะที่จะทำหน้าที่ขับถ่ายอุจจาระออกจากร่างกาย ซึ่งจะมีกล้ามเนื้อหูรูดวงใน และกล้ามเนื้อหูรูดวงนอก ทำหน้าที่ในการกลั้นอุจจาระ และเบ่งถ่ายอุจจาระออกมา

  1. ตับและถุงน้ำดี

ตับและถุงน้ำดี แม้ว่าไม่ได้เป็นทางผ่านของอาหารหรือทำการย่อยโดยตรง แต่ก็มีส่วนสำคัญต่อระบบย่อยอาหารเช่นเดียวกัน โดยจะทำหน้าที่ในการผลิตน้ำดีออกมาเพื่อนำไปใช้ในการย่อยไขมัน และช่วยดูดซึมวิตามินบางชนิดนั่นเอง

  1. ตับอ่อน

ตับอ่อนมีส่วนช่วยในการสร้างน้ำย่อยและเอนไซม์ชนิดต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการย่อยอาหารเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่มีน้ำย่อยหรือเอนไซม์ ก็จะไม่สามารถย่อยสารอาหารออกมาได้ ดังนั้นตับอ่อนจึงเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญต่อระบบย่อยอาหารมากทีเดียว

ขั้นตอน ระบบย่อยอาหาร
รูป ระบบย่อยอาหาร

ขั้นตอนในการย่อยอาหาร

สำหรับขั้นตอนในการย่อยอาหาร ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การย่อยเชิงกล

เป็นการย่อยอาหารที่จะทำให้อาหารมีขนาดเล็กลงจากเดิม แต่ยังไม่ใช่เล็กที่สุด ซึ่งกระบวนการนี้จะยังไม่มีปฏิกิริยาเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การใช้ฟันเคี้ยวอาหาร หรือการที่หลอดอาหารบีบตัวจนทำให้อาหารมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม โดยหลังจากผ่านการย่อยแบบเชิงกลไปแล้ว ก็จะถูกส่งไปย่อยทางเคมีต่อไป

  1. การย่อยทางเคมี

การย่อยทางเคมีก็คือการย่อยอาหารโดยมีเอนไซม์และน้ำย่อยเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับอาหารจนทำให้อาหารมีโมเลกุลเล็กที่สุด สามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น เนื่องจากหากโมเลกุลอาหารมีขนาดใหญ่จะไม่สามารถดูดซึมได้นั่นเอง

โรค ระบบย่อยอาหาร
รูป ระบบย่อยอาหาร

โรคหรือความผิดปกติต่างๆของระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหารของคนเรา บางครั้งก็อาจเกิดความผิดปกติหรือเป็นโรคบางอย่างได้ โดยความผิดปกติที่มักจะพบได้บ่อยก็มีดังนี้

  • กระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อย เนื่องจากเกิดการระคายเคืองภายในกระเพาะอาหาร จึงทำให้มีการอักเสบและมีอาการปวดท้อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเรอบ่อย จุกแน่นหน้าอก และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยการรักษาแพทย์จะให้ยาลดกรด และอาจให้ยาฆ่าเชื้อในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อบางชนิด รวมถึงผู้ป่วยก็จะต้องดูแลตัวเองตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเลี่ยงอาหารรสจัด พวกเครื่องดื่มที่มีกรดทั้งหลาย และพยายามเน้นทานอาหารอ่อนๆ เป็นหลัก

  • กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนที่ชอบทานอาหารรสจัด หรือทานอาหารแล้วนอนทันที ซึ่งจะมีอาการแสบร้อนกลางอก ในคอ จุกแน่น และอาจมีอาการคลื่นไส้ หรือเสียงแหบแห้งได้อีกด้วย โดยปกติแล้วอาการกรดไหลย้อนจะค่อยๆ หายไปเอง แต่หากมีอาการรุนแรงหรือไม่ทุเลาลงเลย ก็อาจต้องทานยาลดกรดและยาบรรเทาอาการกรดไหลย้อนนั่นเอง

  • ลำไส้แปรปรวน

สำหรับโรคลำไส้แปรปรวน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ซึ่งจะมีอาการท้องผูกท้องเสียสลับกันไปมา และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยผู้ป่วยจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ ดังนั้นการรักษาโรคนี้จะต้องเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมการทานอาหารของตัวเอง ด้วยการเลือกทานอาหารที่ดีต่อลำไส้ และเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อลำไส้เด็ดขาด

  • ท้องเสีย

อาการท้องเสียมักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด โดยเฉพาะเมื่อทานอาหารที่ไม่สะอาด ปรุงสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่เริ่มเน่าเสีย โดยจะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน และอาจรุนแรงถึงขั้นช็อคได้เลยทีเดียว เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำไปมากจนเกิดภาวะขาดน้ำนั่นเอง ซึ่งวิธีการรักษาจะต้องดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายและทานยาแก้ท้องเสีย

  • ท้องผูก

ท้องผูกก็เป็นอีกหนึ่งอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารเช่นเดียวกัน โดยเกิดจากการที่ลำไส้มีการบีบตัวน้อยเกินไปจนส่งผลให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก ประกอบกับการทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย จึงทำให้มีอาการท้องผูกได้ง่ายกว่าปกติ โดยการรักษาให้ทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและดื่มน้ำเยอะขึ้น แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นเลย ก็อาจต้องทานยาถ่ายหรือไปพบแพทย์

  • มะเร็งกระเพาะอาหาร

เป็นโรคที่มีความร้ายแรงมากที่สุด โดยจะมีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร และอาจจุกแน่นบริเวณหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่คล้ายกับโรคทั่วๆ ไป ทำให้กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็มีอาการรุนแรงแล้ว โดยโรคนี้หากพบในระยะเริ่มแรกก็จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ แต่หากพบในระยะรุนแรงมักจะทำได้เพียงแค่ประคับคองอาการเท่านั้น

โรค ระบบย่อยอาหาร
รูป ระบบย่อยอาหาร

การดูแลตัวเองให้มีระบบย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ คุณควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ทานอาหารให้เป็นเวลา

โดยธรรมชาติของคนเราแล้ว จะทานอาหารโดยแบ่งออกเป็น 3 มื้อต่อวัน ได้แก่ เช้า กลางวัน เย็น ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมาเพื่อเตรียมพร้อมการย่อยอาหารในช่วงเวลาเดิมทุกวัน ดังนั้นหากทานอาหารไม่ตรงเวลาก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ และส่งผลให้ไม่สามารถย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงควรทานอาหารให้ตรงเวลาอยู่เสมอ และอย่าอดอาหารมื้อหนึ่งมื้อใดเด็ดขาด

  • อย่าทานอาหารรสจัดจนเกินไป

เพราะอาหารที่มีรสจัดจนเกินไป จะก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ง่าย ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แล้วเลือกทานอาหารที่มีรสชาติอ่อนๆ หรือไม่จัดจนเกินไปแทน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยดูแลกระเพาะอาหารของคุณให้ทำงานได้ดีและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารตามมาแล้วล่ะ

  • พยายามอย่าเครียดบ่อย

ความเครียดไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบย่อยอาหารอีกด้วย เพราะจะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดความผิดปกติขึ้นได้ อย่างที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “อาการเครียดลงกระเพาะ” นั่นเอง ดังนั้นหากรู้สึกเครียดควรพยายามหากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง ดูหนัง หรือไปเที่ยวพักผ่อน เป็นต้น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำเยอะๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย ย่อมส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และการขับถ่าย เนื่องจากน้ำจะทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายง่าย ไม่มีปัญหาท้องผูกนั่นเอง ดังนั้นใครที่ดื่มน้ำน้อย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการดื่มน้ำให้เยอะขึ้นแล้วล่ะ

  • เลี่ยงน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

น้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเป็นกรด ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นจึงควรเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้ หรือลดปริมาณให้น้อยลง และที่สำคัญอย่าดื่มในช่วงที่ท้องว่างเด็ดขาด

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายก็มีผลดีต่อระบบการย่อยอาหารเช่นกัน เพราะจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น จึงเป็นผลดีต่อการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ซึ่งหากใครไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย เพียงแค่เดินบ่อยๆ ก็ดีต่อระบบย่อยอาหารแล้ว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ระบบย่อยอาหาร

คำถามที่มักจะพบบ่อย เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

ทำไมต้องมีการย่อยอาหาร

เพราะอาหารที่เราทานเข้าไปนั้น จะมีโมเลกุลที่ใหญ่จนไม่สามารถถูกดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการย่อยอาหารเพื่อให้มีขนาดโมเลกุลที่เล็กลงและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อส่งไปยังอวัยวะต่างๆ ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ซึ่งหากระบบย่อยอาหารผิดปกติ ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้มากทีเดียว

จำเป็นไหม ต้องเคี้ยวอาหารช้าๆ

ถึงแม้ว่าในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจะมีการย่อยอาหาร แต่การเคี้ยวอาหารก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะยิ่งคุณบดเคี้ยวอาหารให้เล็กลงเท่าไหร่ ก็จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงควรเคี้ยวอาหารช้าๆ เพื่อให้อาหารมีขนาดเล็กและละเอียดที่สุด อีกทั้งการเคี้ยวช้าๆ ยังช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้ดีอีกด้วย เพราะจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วนั่นเอง

อาหารไม่ย่อย ทำไงดี

อาหารไม่ย่อยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อน แล้วจึงทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นแพทย์อาจให้ทานยาลดกรด ยาช่วยย่อยอาหาร และแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

แสบร้อนกลางอก เกิดจากอะไร

อาการแสบร้อนกลางอก โดยส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อนนั่นเอง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้บ่อยเนื่องจากการมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม แต่หากรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจว่าเป็นกรดไหลย้อนหรือไม่ ก็อาจลองไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุก็ได้

ระบบย่อยอาหารเป็นระบบที่สำคัญของร่างกาย เนื่องจากในแต่ละวันเราจะต้องมีการรับประทานอาหารและย่อยอาหารอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงควรดูแลระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ และสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะหากมีความผิดปกติใดๆ ก็จะได้ทำการรักษาได้ทันนั่นเอง

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , ,