ทารกเป็นหวัด ดูแล ป้องกันอย่างไร และเมื่อไหร่ควรพาไปหาหมอ

ทารกเป็นหวัด

เมื่ออากาศแปรปรวนหรือร่างกายอ่อนแอ หลายคนอาจจะเป็นหวัดได้ง่าย ๆ ซึ่งคนทั่วไปมักจะดูแลรักษาตามอาการ อาจซื้อยาแก้หวัดมารับประทาน แต่หากทารกเป็นหวัดมักจะสร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ได้มากกว่า เพราะเด็กยังไม่สามารถพูดได้ ทำให้เราไม่รู้ว่าเขามีอาการตรงไหน อย่างไร ต้องอาศัยการสังเกตดูเท่านั้นค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับอาหารหวัดของลูกน้อย เพื่อจะได้ดูแลให้ถูกวิธี ไม่ต้องเดาไปเองให้ยุ่งยาก เรามาดูกันเลยค่ะว่าหากลูกน้อยของคุณมีอาการไม่สบาย ควรจะทำอย่างไร

สาเหตุของโรคหวัดในทารก

เด็กทารกนั้นบอบบางและยังมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงอาจจะรับเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้ค่ะ

ควันบุหรี่

หากมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ ก็จะทำให้ทารกเป็นหวัดง่ายขึ้น เนื่องจากควันบุหรี่มีส่วนทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายคนทั่วไปลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกายของทารกนั้นยังมีความอ่อนไหวต่อสิ่งกระตุ้น การได้รับควันบุหรี่บ่อย ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุให้ทารกเป็นหวัดได้ง่าย ๆ ค่ะ

สภาพแวดล้อมแออัด

สภาพแวดล้อมที่แออัดทำให้ต้องพบเจอฝุ่นควันอื่น ๆ  และผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งโดยปกติผู้ใหญ่จะมีภูมิต้านทานที่ดีกว่า แม้จะมีเชื้อโรคอยู่ในตัวก็อาจไม่แสดงอาการ แต่หากแพร่ไปสู่ทารกจะทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่า

อากาศเย็นหรือชื้นเกินไป

อากาศที่หนาวเย็นหรือชื้นจะมีเชื้อโรคสะสมอยู่มากกว่าอากาศแบบปกติ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยใส่ใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ หรือการพาเด็กไปอยู่ในที่ชื้นก็ต้องระวังมากขึ้นค่ะ

มีโรคประจำตัว

โรคประจำตัวบางอย่างอาจทำให้เด็กมีอาการคล้ายเป็นหวัด อย่าง โรคภูมิแพ้หรือไอกรน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หรืออาจต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางค่ะ

อาการ

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะกังวลจนทำอะไรไม่ถูก เรามาดูกันก่อนค่ะว่าอาการหวัดในทารกนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้แยกแยะได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการหวัดหรือเป็นอาการของโรคอื่น เนื่องจากอาการบางอย่างอาจคล้ายกัน ซึ่งต้องหมั่นสังเกตและเฝ้าระวังนะคะ

ไอ

เด็กจะมีอาการไอบ่อย ๆ เพราะรู้สึกระคายเคืองในลำคอ

คัดจมูก

สังเกตได้ว่าเด็กจะหายใจลำบาก โดยอาการคัดจมูกนั้นอาจเกิดจากมีน้ำมูก หรือเกิดจากเยื่อบุจมูกบวมจนขัดขวางการหายใจ

น้ำมูกไหล

ให้สังเกตด้วยว่าน้ำมูกนั้นมีสีใด อาจเป็นน้ำมูกใสซึ่งเป็นอาการหวัดปกติ แต่หากมีสีเขียว สีเหลือง หรือสีเทาอาจต้องเฝ้าระวังมากกว่าเดิม เพราะเป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้อค่ะ

มีไข้

คุณพ่อคุณแม่ควรวัดไข้ลูกด้วยเทอร์โมมิเตอร์ หากร่างกายของเด็กมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสก็ถือว่ามีไข้ หากต้องให้ยาลดไข้กับเด็กควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนนะคะ

สังเกตการรับประทานอาหาร

ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง เด็กจะยังคงรับประทานอาหารและเล่นได้ตามปกติ แต่หากพบว่าลูกน้อยมีอาการซึมและเบื่ออาหาร อาจต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษค่ะ

วิธีดูแลเมื่อทารกเป็นหวัด

เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น

หมั่นเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นโดยการเช็ดจากปลายมือไปยังหัวไหล่ จากปลายเท้าไปยังต้นขา เพื่อเป็นการย้อนรูขุมขน ทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกมา อาจออกแรงบ้างนิดหน่อยเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ไม่ต้องเช็ดแรงจนเด็กเจ็บนะคะ นอกจากนี้ต้องคอยวัดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมงด้วยค่ะ

ล้างจมูก

อาจเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่กล้าทำ แต่หากไม่ล้างจมูกลูกน้อยอาจป่วยนาน เพราะมีน้ำมูกคั่งค้าง จึงแนะนำให้วิธีล้างจมูกง่าย ๆ และไม่เป็นอันตรายสำหรับทารกที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน โดยการอุ้มทารกยกศีรษะให้สูง จากนั้นหยดน้ำเกลือสำหรับล้างจมูกเข้าไปในรูจมูกทั้งข้างของทารก จากนั้นรอประมาณ 5-10 นาทีเพื่อให้น้ำมูกอ่อนตัว แล้วจึงใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออกให้หมด สามารถดูดน้ำมูกได้วันละ 1-2 ครั้ง และอย่าลืมล้างลูกยางแล้วตากให้แห้งทุกครั้งก่อนนำมาใช้ใหม่ด้วยนะคะ สำหรับน้ำเกลือล้างจมูกนั้นสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปค่ะ

กระตุ้นให้ทารกดูดนม

หากเด็กไม่ยอมรับประทานควรต้องให้ดูดนมเพื่อป้องกันการขาดน้ำ ส่วนการให้ผงเกลือแร่นั้นต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ค่ะ

กล่อมทารกให้หลับง่าย

เนื่องจากอาการหวัด เช่น ไอ จามหรือคัดจมูกอาจรบกวนการนอนของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นต้องกล่อมลูกให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาจจะใช้วิธีเปิดเพลงและให้เขานอนยกศีรษะสูงหรือนอนบนคาร์ซีตเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก การพักผ่อนที่ดีนอกจากจะทำให้ทารกหายป่วยไวขึ้นแล้ว ยังให้ผลดีต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้วยค่ะ

เมื่อไหร่ควรพาไปพบแพทย์

อาการหวัดในทารกอาจเกิดขึ้นได้ แต่หากดูแลอย่างถูกต้องก็มักจะเริ่มดีขึ้นภายใน 3 วันแรก และจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วันนับตั้งแต่มีอาการ อย่างไรก็ตามหากพบความผิดปกติต่อไปนี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อหรือเป็นโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าได้ค่ะ

ทารกหายใจลำบากขึ้น

หากล้างจมูกแล้วยังมีอาการคัดจมูกที่รุนแรงกว่าเดิม ควรรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะการขาดออกซิเจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ไอรุนแรง

หากมีอาการไอที่รุนแรงผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ อย่างโรคไอกรน ซึ่งจะละเลยไม่ได้ค่ะ

มีไข้สูง

หากอุณหภูมิร่างกายของทารกสูงกว่า 38 องศาเซลเซียสถือว่ามีไข้สูง ควรพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

ซึม เบื่ออาหาร

แม้แต่นมก็ไม่ยอมดื่มอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้

อาเจียน

การเบื่ออาหารอาจเป็นเพราะเด็กรู้สึกผะอืดผะอมจนมีอาการอาเจียนทั้งที่ไม่ได้รับประทานอะไร ส่งผลให้อ่อนเพลียและขาดน้ำ ซึ่งอันตรายมากค่ะ

ขาดน้ำ

เป็นอาการต่อเนื่องจากการที่เด็กไม่ยอมทานอาหารหรือดูดนม และมีการอาเจียนทำให้ไม่มีน้ำในร่างกาย วิธีสังเกตง่าย ๆ ก็คือ เด็กจะไม่มีการปัสสาวะเป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ก็ถือว่าร่างกายขาดน้ำค่ะ

ตาแดง

อาการตาแดงอาจมีร่วมกับขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้ออักเสบ

ร้องไห้ไม่หยุด

เชื่อแน่ว่าหากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกร้องไห้ไม่หยุดและหาสาเหตุไม่ได้จะต้องกังวลมาก ๆ ดังนั้นพาเขาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงดีกว่านะคะ

ป้องกันอย่างไร

หลีกเลี่ยงที่แออัด

ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรพาเด็กไปที่แออัด อีกทั้งควรจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อป้องกันเชื้อราหรือฝุ่นละอองที่อาจทำลายสุขภาพของทารกและคนในครอบครัวด้วยค่ะ

รักษาสุขภาพของคนในครอบครัว

เพียงรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคสู่ทารกได้ค่ะ

รักษาความสะอาด

รักษาความสะอาดให้ทารกด้วยการล้างมือ และก่อนที่จะจับตัวทารกผู้ใหญ่ก็ควรล้างมือก่อนเช่นกันค่ะ

ให้ทารกดื่มนมแม่

ควรให้ทารกดื่มนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเป็นไปได้ควรให้นมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี เพราะนมแม่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกนั่นเองค่ะ

การดูแลทารกต้องใช้ความระมัดระวังและเอาใจใส่เป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กกำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่จะส่งผลไปตลอดชีวิต จะเห็นได้ว่านอกจากการดูแลลูกน้อยแล้ว การใส่ใจทุกคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เชื่อว่าความรักของทุกคนจะช่วยให้ลูกน้อยแข็งแรงได้ทั้งกายและใจแน่นอนค่ะ

dragonflydays

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , ,