ลูก 1-10 เดือน ไม่ยอมกินข้าว กินข้าวยาก แก้อย่างไร

ลูกไม่กินข้าว
หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!

ADVERTISEMENT


เชื่อว่าการสร้างครอบครัวในอุดมคติของใครหลายคน นอกจากจะมีภาพสามีภรรยาที่รักกันหวานชื่นแล้ว สิ่งที่เข้ามาเติมเต็มก็คือการมีเจ้าตัวเล็กสักคนหรือหลาย ๆ คนไว้เป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่การเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่นั้นก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย เพราะยังไม่คุ้นเคยกับหลายอย่าง

บางครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวต้องลองผิดลองถูกกันไป แต่ครอบครัวใหญ่ก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เพราะมีทั้งคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่มีความเห็นต่างจากคนรุ่นใหม่ จนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารการกินสำหรับเด็ก ที่มีความเข้าใจไม่ตรงกัน ไป ๆ มา ๆ นอกจากจะถกเถียงกันเองจนหงุดหงิดแล้ว หากใช้วิธีผิด ๆ ในการกินสำหรับเด็กอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียวค่ะ

เด็กแรกเกิดนั้นต้องเลี้ยงดูด้วยนมแม่เป็นหลัก เพราะนมแม่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่ดี จนกระทั่งเด็กมีอายุ 6 เดือนจึงสามารถให้อาหารอ่อน ๆ ได้ ไม่ควรเริ่มอาหารก่อนอายุ 17 สัปดาห์ เพราะระบบการย่อยของเด็กยังไม่พร้อม หากมีความจำเป็นจริง ๆ เช่น ในกรณีที่เด็กดื่มนมแม่ไม่ได้ ก็อาจเริ่มให้อาหารอ่อนตอนอายุ 4 เดือนได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ

อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายก็ยังพบกับปัญหาที่น่ากังวลใจมาก  ๆ นั่นก็คือ ลูกน้อยของคุณไม่ยอมทานข้าว จนพ่อแม่อย่างเรา ๆ ก็พลอยจะทานไม่ลงไปด้วย หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหาระยะยาวต่อตัวเด็ก ดังนั้นเรามาสำรวจกันนะคะว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่เจ้าตัวเล็กไม่สนใจชามข้าวเอาซะเลย เราจะได้หาวิธีแก้ไขให้ถูกทางกันค่ะ

หาสาเหตุทำให้ลูกไม่ยอมกินข้าว

ลูกของคุณมีโรคภัยไข้เจ็บหรือไม่

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสำรวจให้แน่ชัดก่อนนะคะ เพราะเด็กบางคนมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น กลืนลำบาก ท้องอืด หรือเป็นกรดไหลย้อน เด็กอาจมีอาการไม่สบายตัวจากสาเหตุอื่นได้อีก จึงควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดและทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนี่ประมาทไม่ได้เลยนะคะ

เด็กอาจมีปัญหาด้านอารมณ์

เป็นอีกเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ คาดไม่ถึง เราคงเคยได้ยินเรื่องโรคซึมเศร้า และคิดว่าโรคนี้น่าจะเป็นในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รู้ไหมคะว่าที่จริงเด็กก็มีอาการซึมเศร้าได้เหมือนกัน อาจเกิดจากการถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง ไม่มีคนเอาใจใส่ ไม่ได้รับความสนใจที่เพียงพอ ทำให้เด็กมีความซึมเศร้าจนไม่อยากอาหาร

หากเป็นอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องหาทางแก้ไข ด้วยการใกล้ชิดและเล่นกับลูกให้มากขึ้นอีกนิด แต่ไม่แนะนำให้เล่นตอนกินข้าวนะคะ เพราะจะทำให้เด็กถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากการกินไปเล่นแทน แนะนำว่าขณะป้อนข้าวลูก ให้คุณพ่อคุณแม่สบตากับลูกและชวนคุยบ้าง สร้างบรรยากาศผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ จำกัดเวลากินข้าวให้อยู่ใน 30 นาที เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วให้หยุดกิน อย่าพยายามยัดเยียดให้เด็กกินต่อ เพราะจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการกินข้าว จนนำไปสู่การเบือนหน้าหนีชามข้าวในครั้งต่อไป

คนในครอบครัวถ่ายทอดนิสัยกินจุบกินจิบให้เด็ก

ข้อนี้ต้องระวังด้วยนะคะ ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่หรือสมาชิกในครอบครัวมีนิสัยชอบกินจุบกินจิบและชวนเด็กกินด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ลูกน้อยอิ่มจนไม่อยากทานข้าวแล้ว การกินของกินเล่นก็จะทำให้เด็กอ้วนเกินไป แต่จะได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในสมัยก่อนมักจะมองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารัก แต่ในความเป็นจริงหากปล่อยให้เด็กอ้วนเกินไปก็จะมีปัญหาสุขภาพตามมาได้ภายหลังค่ะ

เด็กมีนิสัยกินยากอยู่แล้ว

บางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด ขอให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลหรือโทษตัวเองนะคะ เพราะเด็กวัยนี้ก็มักจะมีปัญหากินยากอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนอาหาร จากเดิมที่เคยดื่มนมเป็นอาหารหลักเท่านั้น พอเพิ่มอาหารที่ต้องเคี้ยวก็อาจจะยังไม่คุ้นชินกับรสชาติ ลองใช้วิธีจูงใจให้เด็กกินอาหารโดยอาจทำอาหารเป็นรูปร่างน่ารัก ๆ เช่น ปั้นเป็นก้อนรูปร่างต่าง ๆ ใส่ผักหลากสี และเปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ อย่าให้กินเมนูซ้ำเดิม จะช่วยให้เด็กกินอาหารได้หลากหลาย และฝึกให้เขาเป็นคนกินง่ายด้วย

ข้อควรระวังก็คือควรใช้อาหารจูงใจเท่านั้น อย่าจูงใจด้วยการใช้ของเล่นหรือการเปิดการ์ตูนให้เด็กดูอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กเคยตัวต้องการสิ่งล่อใจทุกครั้ง หากไม่ได้ดั่งใจก็อาจงอแงไม่ยอมกินข้าวได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ตามใจบ่อยครั้งอาจเกิดปัญหาทำให้เด็กกินข้าวได้น้อยลงเพราะหันไปจดจ่อกับเครื่องล่อใจแทน นอกจากนี้การให้เด็กวิ่งเล่นขณะรับประทานอาหารอาจทำให้เกิดการสำลักได้ ดังนั้นควรกำหนดเวลาเล่นหรือเวลาดูทีวีให้เหมาะสมและแยกเวลาออกจากมื้ออาหารให้ชัดเจน

คำแนะนำแก้ไขเมื่อลูกกินข้าวยาก

ควรเริ่มให้เด็กกินอาหารในช่วงอายุที่เหมาะสม

ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรเริ่มให้อาหารก่อนอายุ 6 เดือน เพราะลำคอของเด็กยังไม่แข็งพอ ยังตั้งคอเองไม่ได้ ทำให้อาจมีปัญหาตอนกลืนข้าวซึ่งเป็นอันตรายมาก ๆ  แต่ก็ไม่ควรเริ่มหลัง 6 เดือนเช่นกัน เพราะเด็กบางคนชินกับการดื่มนมจนทำให้ขี้เกียจเคี้ยวข้าว หรือบางคนอมข้าว ไม่ยอมกินไปเลยก็มี เนื่องจากรู้สึกว่าอาหารนั้นรสชาติแปลก

ในตอนแรกจึงต้องรอให้เด็กปรับตัวกับอาหารอ่อนสักระยะก่อน ระยะนี้เด็กอาจจะยังกินไม่ได้เยอะ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลให้เด็กฝึกเคี้ยวและสร้างความคุ้นเคยกับอาหารรวมไปถึงวิธีการกินซึ่งอาจต้องใช้เวลา ตามปกติเมื่อถึงวัย 6 เดือนแล้วร่างกายของเด็กต้องการสารอาหารที่มากกว่านม เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างเหมาะสมและเพียงพอ นั่นหมายความว่าหากเริ่มต้นช้าเกินอายุ 6 เดือนจะทำให้เด็กขาดสารอาหารนั่นเองค่ะ

ค่อย ๆ ปรับอาหารให้เหมาะสม

ในระยะแรกที่เริ่มให้อาหารอ่อน ควรให้เด็กได้ปรับตัวโดยการทำอาหารที่ย่อยง่าย อย่างข้าวตุ๋นข้นปานกลาง กับอาหารบดละเอียด เช่น ผักหรือเนื้อสัตว์ หากเป็นผลไม้ก็ต้องบดหรือปั่นละเอียดมาก ๆ เช่นกัน โดยเริ่มจากการเสริมเข้าไปวันละ 1-2 มื้อ เป็นอาหารเสริมโดยยังคงมีนมเป็นอาหารหลัก จนกระทั่งปรับให้การกินข้าวเป็นอาหารหลักได้ในช่วงอายุ 9-11 เดือน สามารถเพิ่มความหยาบของอาหารได้ และให้เด็กกินข้าว 3 มื้อ โดยดื่มนมเป็นอาหารเสริม แต่ควรระวังอย่าให้เด็กดื่มนมใกล้กับมื้ออาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้อิ่มนมจนไม่อยากอาหารเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำให้เด็กดื่มนมแม่จนถึงอายุ 1 ขวบ และไม่ควรให้ดื่มน้ำผลไม้เพราะจะทำให้อ้วน

ฝึกให้เด็กกินข้าวเอง

ในระยะแรกนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยป้อน แต่พอผ่านไประยะหนึ่งควรให้ลูกได้จับช้อนตักเข้าปากเองบ้าง แม้จะหกหล่นเลอะเทอะก็ไม่เป็นไร ค่อย ๆ สอนไปให้เขาได้เรียนรู้เอาเอง ทำให้เขารู้สึกว่าการกินอาหารเป็นเรื่องสนุก คุณพ่อคุณแม่ควรมองตาลูกน้อยเพื่อให้กำลังใจและชมเขาเมื่อตักข้าวได้เอง การมองตาและมีปฏิสัมพันธ์จะช่วยสร้างพัฒนาการทางสมองให้กับลูกของคุณได้ด้วย

การเป็นพ่อเป็นแม่จะว่ายากก็ยาก แต่เพื่อลูกของคุณแล้วเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจอย่างแน่นอน แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมาแล้วหลายคนก็ตาม แต่ละคนก็มีนิสัยไม่เหมือนกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อใจหรือโทษตัวเองว่าเราทำอะไรผิดไปนะคะ เลี้ยงลูกคนแรกเคยใช้วิธีการบางอย่างได้ผล พอมาถึงลูกคนที่สองอาจต้องใช้วิธีอื่น ขอให้ใส่ใจศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาลูกของคุณให้ถูกวิธี เพราะการมีลูกแต่ละครั้งเท่ากับคุณต้องกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เสมอค่ะ

Dragonflydays

Cr. https://th.theasianparent.com

Youtube: Napat Family

Youtube: PRAEW

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , ,