กรดไหลย้อน คือ? | สาเหตุ อาการ การป้องกันและรักษา

กรดไหลย้อน อาการ สาเหตุ ป้องกัน รักษา
กรดไหลย้อนคือ
รูป กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน คืออะไร?

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็น หากไม่รักษาปล่อยไว้จนเรื้อรังจะทำให้มีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารร่วมด้วยได้

สาเหตุ กรดไหลย้อน

สาเหตุของ กรดไหลย้อน

แบ่งได้ตามตำแหน่งที่เป็น คือ

  1. กล้ามเนื้อหูรูดที่ปลายหลอดอาหาร

ตำแหน่งหลอดอาหารส่วนปลายจะมีหูรูดเชื่อมต่อกับกระเพาะอาหาร โดยปกติแล้วจะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาได้ หากความดันของบริเวณหูรูดน้อยกว่าปกติหรือมีการเปิดปิดของหูรูดบ่อย ก็จะเสี่ยงต่อการไหลย้อนของน้ำกรดในกระเพาะได้

  1. หลอดอาหาร

หากหลอดอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ คือ บีบตัวช้าลง จะทำให้อาหารยังคงเหลือค้างปริมาณมากกว่าปกติ หรือค้างเป็นเวลานานกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการไหลย้อนกลับของกรดจากกระเพาะอาหารได้

  1. กระเพาะอาหาร

ถ้ากระเพาะอาหารมีการบีบตัวไล่อาหารไปสู่ลำไส้ช้าลง ก็จะมีปริมาณอาหารค้างนานในกระเพาะหลายชั่วโมง ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

อาการ กรดไหลย้อน

อาการของ กรดไหลย้อน

ผู้ที่เป็นจะสังเกตตัวเองได้ว่า หลังการรับประทานอาหารมื้อหลัก หรือเมื่อยกของหนัก รวมถึงนอนหงาย จะมีอาการแสบร้อนที่บริเวณช่วงอก รู้สึกถึงของเหลวที่ไหลย้อนขึ้นมา ที่มีรสชาติเปรี้ยวและขม ซึ่งการที่มีน้ำย่อยจากระบบทางจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารบ่อย ๆ จะทำให้รู้สึกแสบร้อนในลำคอมากขึ้น อาจรบกวนชีวิตประจำวันได้

นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง จุกช่วงอกบ่อย ๆ อาจรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอติดอยู่ในลำคอ จนต้องกระแอมบ่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกโล่งคอขึ้น บางรายจะไอแห้ง ๆ และเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงถูกทำลายจากกรดในกระเพาะด้วย

หากเป็นทารกหรือเด็กเล็ก ให้ผู้ปกครองสังเกตว่า จะมีอาการอาเจียนง่ายหลังจากดูดนม น้ำหนักน้อย พัฒนาการเติบโตไม่สอดคล้องกับช่วงวัย และมีอาการไอหอบหืดเรื้อรังในช่วงกลางคืน ซึ่งหากเป็นมากจะเสี่ยงต่อการหยุดหายใจเวลานอนหลับได้

ป้องกัน กรดไหลย้อน

วิธีป้องกัน กรดไหลย้อน

การป้องกันโรคกรดไหลย้อนสามารถทำได้ จากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้

  1. การคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป

เนื่องจากมีการวิจัยพบว่า ผู้ที่น้ำหนักเกินหรือมีคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องมากกว่าคนปกติ ส่งผลให้ความดันภายในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงตาม จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนง่าย

  1. งดการดื่มชา กาแฟ น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ดจัด

เพราะอาหารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการระคายเคืองกล้ามเนื้อหูรูดด้านล่างของหลอดอาหาร รวมถึง ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคช็อกโกแลตและอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง อาหารที่รับประทานจึงค้างนานมากกว่าปกติ เพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่

การดื่มสุราและสูบบุหรี่จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดทำงานผิดปกติ ทั้งนี้ มีการวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่จะเพิ่มการหลั่งกรดและชะลอการบีบตัวของกระเพาะอาหาร จึงทำให้มีอาหารค้างอยู่ในกระเพาะนาน เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

  1. ปรับพฤติกรรมรับประทานมื้อเย็น

ลดปริมาณการรับประทานอาหารมื้อเย็นลง และควบคุมเวลาที่รับประทานให้ห่างจากการนอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป

  1. เลือกเสื้อผ้าแต่งกายที่เหมาะสม

ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูปและการใส่เข็มขัดรัดแน่นเกินไป เพราะจะทำให้โรคกรดไหลย้อนเป็นได้ง่ายขึ้น

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

จากปกติที่รับประทานครั้งละมาก ๆ เปลี่ยนเป็นครั้งละน้อย ๆ แต่รับประทานบ่อยขึ้น เพื่อลดปริมาณอาหารที่อยู่ในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารในแต่ละมื้อ ลดความเสี่ยงการเป็นกรดไหลย้อนได้

  1. ควรนอนศีรษะสูง

หมายถึง การหนุนศีรษะด้วยหมอนให้ความสูงจากพื้นเตียงประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป จะทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไม่ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายนัก

  1. ควบคุมความเครียด

มีการวิจัย พบว่าความเครียดส่งผลให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น

รักษา กรดไหลย้อน

การรักษา กรดไหลย้อน

การรักษาโรคกรดไหลย้อน มี 2 วิธี คือ

  1. การใช้ยา

1.1 ยาที่มีฤทธิ์ในการสะเทินกรด ช่วยลดความเป็นกรด ทำให้อาการแสบร้อนกลางอกดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ยาลดกรดอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) แมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) และกรดแอลจินิก (Alginic Acid)

1.2 ยาลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร จะออกฤทธิ์ยับยั้งที่ตัวรับฮิสตามีน (Histamine receptor) ชนิดที่ 2 เช่น Ranitidine

1.3 ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม Proton Pump inhibitor เช่น Omeprazole

1.4 ยาเพิ่มการบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้อาหารที่รับประทานเคลื่อนตัวจากหลอดอาหารและกระเพาะอาหารได้ดียิ่งขึ้น เช่น Metoclopramide

การใช้ยาแต่ละตัวต้องอยู่ภายในการดูแลของแพทย์ มีการประเมินระยะเวลาในการรักษาและควรจะหยุดยาเมื่อแพทย์สั่ง เพื่อให้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดียิ่งขึ้น

  1. การผ่าตัด

แพทย์จะแนะนำในกรณีที่ใช้ยารักษามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือกรณีที่คนไข้มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาแบบรับประทาน และหากส่องกล้องตรวจพบว่ามีเลือดออกและมีหนองอยู่ภายในหลอดอาหาร จากกรดที่ไปทำลายเนื้อเยื่อ จนกลืนอาหารลำบาก แพทย์จะต้องทำการผ่าตัด ซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดที่เชื่อมระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะ เพื่อทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

อื่น ๆ ที่ควรทราบเกี่ยวกับ กรดไหลย้อน

การตั้งครรภ์ในช่วงระยะสัปดาห์ที่มากขึ้น เมื่อมดลูกขยายขนาดใหญ่ จะไปเบียดอวัยวะภายใน ทำให้เพิ่มความดันในกระเพาะอาหาร จึงเป็นกรดไหลย้อนได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , ,