ราคาบัตร MRT และค่าโดยสารทั่วไป นักเรียน ผู้สูงอายุ เด็ก ปี 2564

MRT

นอกจากรถไฟฟ้า (BTS) รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ก็เป็นอีกหนึ่งในยานพาหนะหลักที่คนใช้เดินทางในเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อาจมีโอกาสใช้ MRT วันนี้เราขอมาอัพเดท รูปแบบ ราคาบัตร และค่าโดยสาร รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ในปี 2564 ให้ทุกคนได้ทราบกัน

ตารางเปรียบเทียบค่าโดยสาร
ทั่วไป นักเรียน ผู้สูงอายุ และเด็ก ในปี 2564
(1 ม.ค. 2564 – 2 ก.ค. 2565)

mrt new
ขอบคุณรูปภาพจาก metro.bemplc.co.th

บัตร MRT นั้น นอกเหนือจากเหรียญโดยสาร ที่ใช้สำหรับการเดินทางเที่ยวเดียวแล้ว จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ บัตร MRT เติมเงิน, บัตรโดยสารธุรกิจ, และบัตร MRT Plus Park & Ride ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) นั้นจะยังไม่ออกบัตรเหมาเที่ยว รายเดือน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงเราจะมาอัพเดทให้ทันที

#1
บัตร MRT เติมเงิน

บัตร MRT เติมเงิน นั้นคือบัตรประเภทที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ บัตรบุคคลทั่วไป (Adult Card), บัตรนักเรียน นักศึกษา (Student Card), บัตรผู้สูงอายุ (Elder Card) และ บัตรเด็ก (Child Card) ซึ่งความแตกต่างของแต่ละบัตรจะอยู่ที่เปอร์เซ็นต์ที่ลดจากอัตราค่าโดยสารปกติต่อเที่ยวการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสมัครหรือออกบัตรครั้งแรกของทุกประเภทบัตรจะเหมือนกัน ซึ่งค่าออกบัตรจะอยู่ที่ 180 บาท (แบ่งออกเป็น เงินในบัตรเพื่อใช้จ่ายในการเดินทาง 100 บาท + ค่ามัดจำบัตร 50 บาท + ค่าธรรมเนียมออกบัตร 30 บาท) บัตร MRT แบบเติมเงินนี้จะมีอายุขัยถึง 2 ปี เริ่มนับจากการใช้เดินทาง หรือเติมเงินครั้งสุดท้าย

บัตรบุคคลทั่วไป

  1. บัตร MRT บุคคลทั่วไป (Adult Card)

อัตราการคิดค่าโดยสาร

  • คิดค่าโดยสารตามระยะทาง

เงื่อนไขการสมัคร/ออกบัตร

  • บุคคลทั่วไป ใครๆก็สามารถสมัครได้
  • สามารถซื้อ/ออกบัตรได้ทุกช่องจำหน่ายตั๋วของแต่ละสถานี

บัตรนักเรียน

  1. บัตร MRT นักเรียน นักศึกษา (Student Card)

อัตราการคิดค่าโดยสาร

  • ลด 10% จากอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง

เงื่อนไขการสมัคร/ออกบัตร

  • นักเรียน นักศึกษา อายุไม่เกิน 23 ปี
  • ต้องใช้บัตรนักเรียน นักศึกษาคู่กับบัตรประชาชนในการออกบัตร
  • สามารถซื้อ/ออกบัตรได้ทุกช่องจำหน่ายตั๋วของแต่ละสถานี

บัตรผู้สูงอายุ

  1. บัตร MRT ผู้สูงอายุ (Elder Card)

อัตราการคิดค่าโดยสาร

  • ลด 50% จากอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง

เงื่อนไขการสมัคร/ออกบัตร

  • ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • ต้องใช้บัตรประชาชน หรือบัตรอื่นๆที่ทางราชการออกให้
  • สามารถซื้อ/ออกบัตรได้ทุกช่องจำหน่ายตั๋วของแต่ละสถานี

บัตรเด็ก

  1. บัตร MRT เด็ก (Child Card)

อัตราการคิดค่าโดยสาร

  • ลด 50% จากอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง

เงื่อนไขการสมัคร/ออกบัตร

  • เด็กมีอายุต่ำกว่า 14 ปี และสูงไม่เกิน 91 – 120 ซม.
  • สามารถซื้อ/ออกบัตรได้ทุกช่องจำหน่ายตั๋วของแต่ละสถานี

สิทธิพิเศษ

ฟรีค่าโดยสาร สำหรับเด็กที่อายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงต่ำกว่า 90 ซม.

#2
บัตรโดยสารธุรกิจ

บัตรโดยสารธุรกิจ

บัตรประเภทนี้คุณจะสามารถครอบครองได้ก็ต่อเมื่อทางองค์กรของคุณนั้นเป็นผู้ออกบัตรให้ ซึ่งทางองค์กรจะต้องออกบัตรเป็นจำนวนมากกับทาง BEM บัตรประเภทนี้จะสามารถใช้ได้กับ MRT สายสีฟ้าและสายสีม่วง สามารถเติมเงินสดได้ตั้งแต่ 100 บาท – 10,000 บาท และสามารถออกแบบหน้าบัตรใหม่ได้ อย่างไรก็ตามบัตรโดยสารธุรกิจ ไม่สามารถถอนเงินคืนได้

#3
บัตร MRT Plus Park & Ride

บัตร MRT Park & Ride plus

บัตร MRT Plus Park & Ride คือ บัตรจอดรถที่สามารถนำไปใช้โดยสารรถไฟฟ้าได้ ซึ่งผู้ใช้บัตรจะได้รับบัตรทางเข้าอาคารจอดรถสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ใช้โดยสารรถไฟฟ้าในอัตราปกติ และชำระเมื่อนำรถออกจากอาคาร

การคืนเงิน / คืนบัตร MRT

หากคุณต้องการเงินมัดจำบัตรคืน (50 บาท) หรือต้องการเงินที่เหลืออยู่ในบัตรคืน คุณสามารถเลือกที่จะคืนบัตร MRT ได้ที่ช่องจำหน่าตั๋วของทุกสถานี ซึ่งเงื่อนไขในการคืนบัตรนั้นจะมีดังนี้

  1. บัตรจะต้องใช้งานได้ปกติ
  2. บัตรจะต้องมีสภาพเดิมตอนแรกรับให้ได้มากที่สุด (ไม่มีรอยถลอก ไม่มีสติกเกอร์ ไม่มีรอยดำ)
  3. เลขบัตรด้านหลังจะต้องอยู่ครบถ้วน ไม่มีหลุดลอก

(กรณีที่เงินในบัตรคงเหลือ เกิน 300 บาท ทาง MRT จะคืนเงินโดยการโอนเข้าผ่านบัญชีธนาคาร แต่หากคงเหลือไม่เกิน 299 บาท คุณจะสามารถรับเงินคืนเป็นเงินสดจากสถานีได้เลย)

เป็นอย่างไรกันบ้าง? หากคุณกำลังคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางในกรุงเทพฯ อยู่ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณไม่มากก็น้อยนะ อย่างไรก็ตามจงจำไว้ว่า หากคุณใช้บัตรผิดประเภท เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด คุณอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง 20 เท่าของอัตราค่าโดยสาร ณ เวลานั้นๆเลยนะ!

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , ,