Blockchain คืออะไร มีประโยชน์และตัวอย่างการใช้งานอะไรบ้าง

Blockchain คืออะไร มีประโยชน์และตัวอย่างการใช้งานอะไรบ้าง

คำว่า Blockchain มาแรงมาก โดยเฉพาะในวงการเงินดิจิทัลหรือที่เรียกกันว่าคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งคิดว่าเทคโนโลยีนี้จะอยู่แค่ในวงการนี้เท่านั้น เพราะระบบ Blockchain สามารถปรับใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว 

ดังนั้นไปทำความรู้จักกับ Blockchain ให้ถ่องแท้กว่าเดิม รวมถึงประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย รวมไปถึงตัวอย่างการนำไปใช้กันเลย

centralization VS decentralization

Blockchain  คืออะไร

Blockchain (บล็อกเชน) คือรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูล (Data structure) ชนิดหนึ่ง ซึ่งกระจายการเก็บข้อมูลไปยังหลาย ๆ แห่ง (decentralization) ไม่ได้เก็บไว้ที่ใดที่หนึ่ง (centralization) จึงมีความปลอดภัยมากกว่า ลดความเสี่ยงโดนแก้ไข ปลอมแปลง ลบ หรือทำจากกลุ่มคนกลุ่มเดียว อีกทั้งทุกคนยังเข้าถึงได้ง่ายกว่า และประหยัดต้นทุนในการดูแลมากกว่าด้วย 

คำว่า Blockchain ตั้งขึ้นตามวิธีการจัดเก็บ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บเอาไว้เป็น Block (บล็อก) และเจ้า Block เหล่านี้จะถูกกระจายไปไว้กับคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ร้อยเรียงเชื่อมโยงต่อกันเหมือนสายโซ่หรือที่เรียกว่า Chain นั่นเอง เมื่อรวมกันแล้วก็เรียกว่า Blockchain 

วิธีการทำงานของ Blockchain ก็คือ คอมพิวเตอร์ในเครือข่าย Blockchain จะมีข้อมูลที่เหมือนกัน โดยจะมีไทม์สแตมป์และข้อมูลสิทธิความเป็นเจ้าของ เมื่อมีเรียกหรือมีคำสั่งบางอย่างเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ระบบ Blockchain ก็จะเรียกการตรวจสอบความถูกต้องจาก Block อื่น ๆ เพื่อยืนยันว่าคุณสามารถทำสิ่งนั้น ๆ ได้หรือไม่ เช่น ถอนเงินได้หรือไม่ และหากว่าคุณผ่านการตรวจสอบแล้ว ระบบก็จะทำตามคำสั่งนั้น ๆ ให้ทันที 

Blockchain คืออะไร มีประโยชน์และตัวอย่างการใช้งานอะไรบ้าง
ภาพประกอบ freepik.com

ข้อดีของ Blockchain

  • เรียกดูข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบ Blockchain ได้จากเครื่องใดก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้
  • ปลอมแปลงยาก เพราะระบบของ Blockchain ค่อนข้างใหญ่ อัพเดตข้อมูลเชื่อกันตลอดเวลา
  • โจมดีข้อมูลได้ยาก เพราะข้อมูลถูกกระจายไปเก็บเอาไว้ในคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง
  • ค่าใช้จ่ายในการดูแลข้อมูลถูกกว่า เพราะผู้คนทั่วไปสามารถนำคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมาเข้าระบบ Blockchain ได้
  • ใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่วงการการเงิน
  • ทำธุรกรรมและบันทึกข้อมูลแบบทันที (real time) ได้ตลอดเวลา
  • ตามรอยได้ว่ามีการทำธุรกรรมอะไรและเมื่อไหร่ได้

ข้อเสียของ Blockchain

  • ระบบมีความซับซ้อนมากกว่าระบบ centralization แบบเดิม ๆ 
  • ไม่มีองค์กรควบคุม ต้องอาศัยความเชื่อใจของระบบ จากเดิมที่เราต้องเชื่อใจส่วนกลางที่ดูแลข้อมูลเหล่านั้น
  • ปัญหาความเป็นส่วนตัว สามารถดูประวัติการทำธุรกิจกรรมในเครือข่าย Blockchain ได้ เพียงแต่ว่าจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของเจ้าของธุรกรรมนั้น ๆ  
  • อาจถูกนำไปใช้ทำกิจกรรมผิดกฎหมายได้ เพราะรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน 
  • ผู้ใช้งานต้องมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์บ้าง ดังนั้นอาจจะยังไม่ตอบโจทย์หากผู้ใช้งานยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้น้อย
Blockchain คืออะไร มีประโยชน์และตัวอย่างการใช้งานอะไรบ้าง
ภาพประกอบ freepik.com

Blockchain ไม่ใช่ Bitcoin

ข้อนี้หลายคนเข้าใจผิดมาก Blockchain เป็นเพียงระบบการเก็บข้อมูลที่สามารถนำไปปรับใช้กับทุกอุตสาหกรรม เพียงแต่ว่าคนไทยรู้จักคำว่า Blockchain ผ่านเรื่อง Bitcoin ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและต้นทุนต่ำ รวมไปถึงราคาของ Bitcoin ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปีจึงทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่า Bitcoin และ Blockchain คือสิ่งเดียวกัน 

ความจริงก็คือ Bitcoin คือเงินสกุลดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่ง ที่ใช้ระบบ Blockchain ต่างหาก

Blockchain คืออะไร มีประโยชน์และตัวอย่างการใช้งานอะไรบ้าง
ภาพประกอบ freepik.com

ทำไมถึงบอกว่า Blockchain ปลอดภัย

แต่ก่อนนี้การเก็บข้อมูลต่าง ๆ มักถูกเก็บเอาไว้ที่ตัวกลางเพียงหนึ่งเดียว (centralization) ซึ่งหากตัวกลางไม่มีความน่าเชื่อถือก็อาจแอบทำการปลอมแปลงได้ หรือหากไม่มีความสามารถในการป้องกันก็อาจโดนโจมตีจากบุคคลภายนอกได้ง่าย ๆ ซึ่งอาจจะกระทบกับข้อมูลททั้งหมดได้ หากไม่ได้มีการสำรองข้อมูลสม่ำเสมอ 

แต่ Blockchain เป็นการกระจายอำนาจไปยังทุกคน (decentralization) ไม่ได้เก็บเอาไว้ทีเดียว ดังนั้นจึงต้องพิ่งพาคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ในการตรวจสอบข้อมูล และการกระจายข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้ยากต่อการปลอมแปลงหรือโจมตีข้อมูลอีกด้วย 

เมื่อ Blockchain ไม่ได้เก็บข้อมูลเอาไว้ที่เดียว เมื่อคุณแอบลบหรือแก้ไขปุ๊บโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีสิทธิ์แก้ไข ชุดข้อมูลที่อยู่ใน Block อื่น ๆ ในระบบ Blockchain ก็จะส่งข้อมูลชุดเดียวกกันกลับมายัง Block นั้นเช่นเดิม ดังนั้นการปลอมแปลงจะทำได้เมื่อแฮ็กมูลใน Block ที่อยู่บนระบบ Blockchain ทั้งหมดพร้อมกันในทีเดียว

หากพูดแบบสั้นมาก ๆ ก็คือ ทุกคนในระบบ Blockchain ถือข้อมูลชุดเดียวกันอยู่ และมันจะอัพเดตพร้อม ๆ เมื่อมีการแก้ไขใด ๆ

Blockchain คืออะไร มีประโยชน์และตัวอย่างการใช้งานอะไรบ้าง
ภาพประกอบ freepik.com

ตัวอย่างการใช้งาน Blockchain

ตัวอย่างการใช้งานจริงของ Blockchain ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเก็บข้อมูลต่าง ๆ  

  • การใช้ระบบ Blockchain ที่ดังที่สุดตอนนี้ก็คงต้องยกให้วงการ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin
  • อสังหาริมทรัพย์ ประเทศอังกฤษ มอลต้า และอื่น ๆ เริ่มเก็บข้อมูลโฉนดบน Blockchain แล้ว
  • โครงการ Medrec ของ MIT เก็บข้อมูลและประวัติการรักษาผู้ป่วยผ่านระบบ Blockchain แล้ว
  • โปรแกรม Loyalty point KrisFlyer ของ Singapore Airline ใช้เก็บข้อมูลคะแนนสะสม
  • ประเทสเอสโตเนียนำ Blockchain มาใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชน รวมถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ และยังใช้ในเลือกตั้งอีกด้วย 
  • จีนใช้ Blockchain เก็บข้อมูลงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน เน้นความปลอดภัยและโปร่งใสในการจัดเก็บ
  • ธุรกิจยาใช้ Blockchain จัดเก็บข้อมูล เพื่อความโปร่งใสและถูกต้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลยาได้ง่ายขั้น และตรวจสอบที่มาได้ โดยประเทศที่เริ่มใช้คืออินเดีย
  • องค์กรระดับโลกอย่าง UNHCR นำ Blockchain มาใช้กับการบันทึกข้อมูลผู้อพยพ 
  • สิงคโปร์เริ่มนำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ การจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 
  • กรมตำรวจอังกฤษใช้ Blockchain ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งการรับแจ้งความ สอบสวน และตัดสิน เพราะสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ไม่รั่วไหล ถูกปลอมแปลง หรือสูญสาย ทั้งยังลดการใช้กระดาษอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า Blockchain เริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของพวกเรามากยิ่งขึ้น แม้ว่าในประเทศไทยอาจจะยังมีไม่เยอะมากก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าในอนาคต Blockchain มาแน่ ให้สมกับเป็น Thailand 4.0 

รูปปก freepik.com

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: