อยากเปิดร้านกาแฟ? จะใหญ่ – เล็ก อ่านก่อนเริ่มธุรกิจ! ลดความเสี่ยง

อยาเปิดร้านกาแฟ

ร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตมากที่สุดตามแนวโน้มของจำนวนผู้บริโภคที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจทีมีการแข่งขันที่เข้มข้นที่สุดประเภทหนึ่งอีกเช่นกัน ด้วยวัฒนธรรมทางความคิดที่กล่าวว่า “คิดอะไรไม่ออกให้บอกร้านกาแฟ” ส่งผลให้จำนวนร้านกาแฟเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อาจจะเรียกว่าเร็วเกินกว่าจะรองรับกับการขยายตัวของจำนวนผู้บริโภคก็ว่าได้ ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟสมัยใหม่มีอายุสั้นลงเรื่อยๆ หากท่านเป็นคนหนึ่งที่กำลังให้ความสนใจในธุรกิจร้านกาแฟนี้ โปรดเสียสละเวลาสักนิด เพื่อโอกาสในการก้าวเดินที่มั่นคง

คลื่นสามลูกในวงการกาแฟคือตัวชี้วัดทิศทางของบริโภคที่ร้านกาแฟต้องรู้

เปิดร้านกาแฟ 07
รูป ร้านกาแฟ

จากบทความของสุภาพสตรีที่ชื่อว่า Trish Rothgeb นักคั่วกาแฟมือฉมังชาวอเมริกันได้แบ่งวิวัฒนาการทางกาแฟในแต่ละทศวรรษเปรียบเสมือนคลื่นกระทบฝั่ง โดยเริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงปี ค.ศ. 1970 เป็นยุคที่คนยังไม่รู้จักกับคำว่ากาแฟสดเท่าไร กาแฟสำเร็จรูปจึงเป็นที่นิยมในยุคเริ่มต้นและในปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มผู้บริโภคกาแฟเหล่านี้หลงเหลืออยู่พอสมควร ร้านกาแฟที่ยังยึดโยงกับกาแฟในยุค First Wave ในบ้านเราสามารถพบเห็นได้อยู่ เช่น ซุ้มกาแฟเล็กๆ ร้านชาไข่มุก หรือ ร้านกาแฟโบราณที่เน้นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อย่างเช่น กาแฟสำเร็จรูป ครีมเทียม นั่นเอง จากนั้นตั้งแต่ปี 1970 – 1980 คนเริ่มรู้จักกาแฟที่เป็นคลื่นลูกที่สอง จากร้านกาแฟขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Starbucks ซึ่งเน้นกาแฟเข้มขม ใส่นมเยอะๆ และเริ่มให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟคั่วสด และ Dairy Product มากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพของเครื่องดื่มให้ดีกว่ายุคแรก และในปัจจุบันยังถือว่าร้านกาแฟในกลุ่มคลื่นลูกที่สองยังครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในบ้านเราสูงที่สุดเลยทีเดียว หลังจากนั้นอุตสาหกรรมกาแฟก็ได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาเป็น คลื่นลูกที่สาม คือยุคที่เรียกขานกันว่ายุคทองของกาแฟพิเศษ หรือ Specialty Coffee นั่นเอง เป็นยุคที่คนหันมาให้ความสนใจกับการคัดเลือกวัตถุดิบโดยเฉพาะเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูง และการให้ความสำคัญกับกระบวนการสกัดกาแฟ (Brewing) โดยใช้เครื่องมือทันสมัย ราคาแพง และหลากหลายกว่ายุคก่อนๆ ทำให้ราคาของกาแฟในยุคนี้สูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ปัจจุบันในบ้านเรามีกลุ่มผู้บริโภคกาแฟพิเศษเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากสัดส่วนทางการตลาดทั้งหมดเท่านั้นเอง จากข้อมูลเหล่านี้เราจะพบว่ารสนิยมการบริโภคของคนเริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกับเครื่องดื่มที่เรียกว่ากาแฟ ตลาดของผู้บริโภคในยุคแรกเริ่มนั้นเริ่มถูกแทนที่ด้วย คลื่นลูกที่สองและสามตามลำดับ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ตลาดกาแฟสำเร็จรูปต่างได้รับผลกระทบจากคลื่นลูกที่สามอย่างเช่น กาแฟดริป กาแฟไซฟ่อน หรือเครื่องชงกาแฟสำเร็จรูปแบบครัวเรือน ทำให้ปริมาณผู้บริโภคกาแฟในสถานการณ์แบบจำยอมมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของกาแฟยุคแรกเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง และหากเราศึกษาลึกลงไปอีกจะพบว่าวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟแบบคลื่นลูกที่สองนั้นเริ่มได้รับผลกระทบจากกลุ่มผู้บริโภคกาแฟยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและคุณภาพของวัตถุดิบในคลื่นลูกที่สามด้วยเช่นกัน ถึงแม้ในปัจจุบันกาแฟคลื่นลูกที่ 2 จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่แนวโน้มการถือกำเนิดของร้านกาแฟที่เรียกว่า Specialty Coffee เริ่มมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มว่ากำลังจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นในธุรกิจของร้านกาแฟผู้ประกอบการทุกท่านควรจะต้องมีความรู้ส่วนนี้เพื่อวางแผนการตลาดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้ว่าตลาดมีแนวโน้มอย่างไร และเข้าใจศักยภาพของตัวเองว่าควรจะพลิกแพลงเพื่อความอยู่รอดอย่างมั่นคงนั่นเอง เพราะธุรกิจที่ไม่มีการปรับตัวต่อให้จะเคยยิ่งใหญ่เพียงใด ก็สามารถล้มได้แค่ชั่วข้ามคืนได้เหมือนกัน

ประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์ ชัดเจนในเป้าหมาย

เปิดร้านกาแฟ 03
รูป ร้านกาแฟ

เป้าหมายที่ชัดเจน เป็นเสมือนใบเบิกทางที่จะนำท่านไปสู่การแสวงหาแนวการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจก้าวเท้าเข้ามาสู่สนามการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นอย่าง ธุรกิจร้านกาแฟ ผู้ประกอบการควรตั้งคำถามกับตัวเองให้แน่ใจว่าเรามาทำอะไรที่นี่ การตั้งเป้าหมายจึงต้องวิเคราะห์จากความเหมาะสมของสถานภาพทางการเงินและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเป็นสำคัญ ดังนั้นความเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประกอบการล้มเหลวมากที่สุดในธุรกิจร้านกาแฟ คือการตั้งเป้าหมายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และสถานภาพทางการเงินนั่นเอง โดยความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจะตั้งเป้าหมายทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำและปลอดภัย เพราะเขาจะไม่ใช้เงินหลักสิบเพื่อเปลี่ยนเป็นหลักร้อยซึ่งไม่ต่างจากการจับไม้สั้นไม้จยาว แต่เคล็ดลับความสำเร็จของผู้ประกอบการเหล่านี้คือ เขาจะใช้เงินหลักร้อยเพื่อหวังผลกำไรในหลักสิบ แต่เป็นเงินหลักสิบที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงจนถึงเป้าหมายที่เขาวางไว้นั่นเอง จึงเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าธุรกิจร้านกาแฟไม่เหมาะสมกับการพิชิตเป้าหมายในระยะเวลาอันสั้นนั่นเอง

วิเคราะห์เป้าหมายผิด ชีวิตก็เปลี่ยน

เปิดร้านกาแฟ 08
รูป ร้านกาแฟ

หลังจากตรวจสอบตัวเองและตั้งเป้าหมายทางธุรกิจแล้วเราจะพบว่าแท้ที่จริงแล้วธุรกิจร้านกาแฟมีความเสี่ยงสูงและมีผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน แต่สำหรับใครที่ยอมรับความเสี่ยงนั้นได้และพร้อมจะก้าวเดินไปสู่โลกธุรกิจกาแฟอันกว้างใหญ่แล้ว ควรจะทำความเข้าใจกับประเภทของร้านกาแฟที่อยู่ในตลาดทั้งหมดเสียก่อน เพราะเมื่อเราเข้าใจธุรกิจนี้อย่างถ่องแท้แล้ว เราจะสามารถมองเห็นภาพรวมได้ว่าควรจะเข้าไปแข่งขันในธุรกิจใด

  • ร้านกาแฟขนาดเล็กกะทัดรัด

มีความคล่องตัว และมีพื้นที่ใช้สอยไม่มาก ตั้งอยู่ในเขตชุมชนหรือมีคนพลุกพล่าน อย่างเช่น ตลาด โรงเรียน หน่วยงานราชการ และห้างร้านต่างๆเป็นต้น ใช้งบประมาณในการลงทุนตั้งแต่ 10,000 – 100,00 บาท จุดเด่นของร้านกาแฟขนาดเล็ก คือมีทุกซอย อร่อยทุกที่ มีราคาประหยัด start up ธุรกิจได้ด้วยต้นทุนไม่สูง จึงเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่มีความคาดหวังในเรื่องของผลกำไรในระยะสั้น ส่วนจุดด้อยของธุรกิจประเภทนี้ก็คือ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงต่ำแต่ก็มีการแข่งขันสูง อาจจะถอนทุนหรือมีกำไรในระยะสั้นได้แต่อาจไม่ตอบโจทย์ระยะยาว เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่และคู่แข่งทางการค้าที่สามารถเขย่ายอดขายของเราได้ทุกวันนั่นเอง ในปัจจุบันถึงแม้ร้านกาแฟขนาดเล็กจะเป็นธุรกิจที่มีปริมาณมากที่สุดในบรรดาธุรกิจร้านกาแฟด้วยเหตุผลหลักที่ใช้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้อย และเปิดง่าย แต่สัดส่วนทางการตลาดนั้นกลับมีเพียง 25-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง อีกทั้งมีการเจริญเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการบริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไป หากใครคิดจะขุดทองในตลาดร้านกาแฟขนาดเล็กที่ลงทุนน้อย แต่ต้องการผลกำไรมาก อาจจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกทีว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงหรือไม่

  • ร้านกาแฟขนาดกลาง

เป็นธุรกิจร้านกาแฟที่มีความท้าทายและมีความเสี่ยงมากที่สุดในวงการนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นขายให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่มองเรื่องรูปลักษณ์ทันสมัย และบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มาเป็นอันดับแรกๆ มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 100 ที่นั่ง มีงบประมาณในการลงทุนประมาณ 200,000 – 5,000,000 บาท ดังนั้นธุรกิจร้านกาแฟประเภทนี้จึงต้องมีสายป่านที่ยาวและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีพอสมควรเพื่อผลักดันตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งธรรมชาติของธุรกิจร้านกาแฟในช่วงแรกกราฟจะขึ้นตามกระแส “เป็นของใหม่” แต่หลังจากนั้นกราฟจะค่อยๆ ตกลงมาและทรงตัวจนเห็นผลประกอบการที่แท้จริง ข้อเสียเปรียบของร้านกาแฟขนาดกลางก็คือไม่สามารถคืนทุนได้ในระยะสั้นเหมือนกับร้านกาแฟขนาดเล็กที่พร้อมจะพับเก็บได้ทุกเวลาหากมองว่าไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไป ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการที่ใฝ่ฝันจะมีร้านกาแฟสวยๆเป็นของตัวเอง คือ การบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนการตลาดเพื่อเป้าหมายระยะยาวรวมถึงจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในเทรนด์เสมอ ถึงจะหายใจได้คล่องตัว ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าร้านกาแฟขนาดกลางมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงเพราะการเข้าของร้านกาแฟแบบ Chain ที่ครอบครองส่วนแบ่งทางตลาดในธุรกิจร้านกาแฟถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้างสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางหลายท่านที่เริ่มปรับตัวตามกระแสบริโภคกาแฟแบบคลื่นลูกที่ 3 ที่เรียกว่ายุคกาแฟพิเศษหรือ Specialty Coffee ซึ่งเป็นเพียงความได้เปรียบเดียวของร้านกาแฟขนาดกลาง ที่ร้านกาแฟแบรนด์ใหญ่ๆไม่สามารถทำได้นั่นเอง ดังนั้นผู้ประกอบการท่านใดที่หวังจะรอดพ้นจากกระแสคลื่นแห่งทะเลการค้าอันดุเดือดต้องมีฝีมือ และความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับวัฒนธรรมการบริโภคสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

  • ร้านกาแฟแบบ Chain

เป็นการต่อยอดทางธุรกิจจากร้านกาแฟขนาดเล็กและขนาดกลางโดยที่มีเป้าหมายและกลุ่มลูกค้าชัดเจน มีงบประมาณการลงทุนแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นที่ 50,000 – 3,000,000 บาท ด้วยความที่ร้านกาแฟแบบ Chain ควบรวมระหว่างซุ้มกาแฟขนาดเล็ก และ ร้านคาเฟ่ขนาดกลาง ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดมีมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จุดเด่นของธุรกิจร้านกาแฟประเภทนี้คือ จ่ายครบจบที่เดียว มีคนทำตลาดให้ ทำสูตรให้ ดังนั้นเคล็ดลับที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จมีเพียง วิเคราะห์การตลาดของแบรนด์ที่เราเลือกให้ดี และเลือกทำเลให้สอดคล้องกับการตลาดซึ่งดูเหมือนง่าย แต่การจะได้ทำเลทองนั้นบางครั้งเราอาจต้องจ่ายมากกว่าที่คิดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการคำนวณต้นทุนอีกด้วย ดังนั้นก่อนที่จะฝากอนาคตไว้กับแบรนด์เจ้าใด ผู้ประกอบการควรจะทราบถึงความเสี่ยง จุดคุ้มทุน และการทำกำไรอย่างละเอียด รวมทั้งทำเลที่เราเลือกนั้นสร้างยอดขายให้เราได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั่นเอง

  • ร้านกาแฟขนาดใหญ่

คือร้านที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในธุรกิจร้านกาแฟ เป็นร้านที่มีเงินทุนสูง มีสายป่านยาว หรือบางร้านอาจไม่คาดหวังกับผลกำไรทำเพื่อความสุขใจของผู้ประกอบการก็มี จุดเด่นของร้านกาแฟขนาดใหญ่ก็คือมีสภาพคล่องทางการเงินที่เหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ รวมถึงมีต้นทุนในเรื่องสถานที่ เครื่องมือ วัตถุดิบ ทรัพยากรบุคคล ที่ดีกว่าร้านกาแฟขนาดเล็ก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาเครื่องดื่มที่สูงลิ่วตามปัจจัยของต้นทุนการผลิตนั่นเอง โดยปกติเราจะเห็นร้านกาแฟขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ หรือในพื้นที่ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังการซื้อสูง ร้านกาแฟเหล่านี้มักได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวหรือคนเฉพาะกลุ่มที่ต้องการบรรยากาศพิเศษ และมีความคาดหวังต่อคุณภาพและรสชาติของเครื่องดื่มในระดับพรีเมียม บางครั้งร้านเหล่านี้ขายเครื่องดื่มไม่กี่แก้วก็สามารถทำยอดได้มากกว่าร้านกาแฟทั่วไป เข้าตามทฤษฎีลงทุนหลักร้อยเพื่อกำไรหลักสิบ มีความเสี่ยงน้อย และมีกำไรเรื่อยๆนั่นเอง

ทำเลดีต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมาย

เปิดร้านกาแฟ 04
รูป ร้านกาแฟ

หลายคนอาจจะถูกปลูกฝังมาด้วยคำพูดที่บอกว่าทำเลทีดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้ผิดอะไร แต่หากเราพิจารณาจากสองปัจจัยหลักข้างต้นอย่างละเอียดแล้ว ทำเลที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการต่างหากที่จะสามารถนำธุรกิจของท่านไปสู่ชัยชนะได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งเป้าจะเปิดร้านกาแฟขนาดกลางที่ต้องการให้คนมานั่งสัมผัสบรรยากาศแบบสบายๆ แต่เราเลือกทำเลที่พลุกพล่าน ย่านชุมชน นอกจากจะมีพื้นที่ใช้สอยน้อยแล้ว ยังต้องแบกรับภาระจากค่าเช่าพื้นที่ซึ่งมีราคาสูงอีกด้วย นอกจากนั้นยังแวดล้อมไปด้วยร้านกาแฟขนาดเล็กมากมายที่กลายมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจโดยตรงจนยากจะรับมือ ดังนั้นการเลือกทำเลนั้นจึงต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับประเภทของร้านกาแฟเป็นสำคัญ โดยการตั้งคำถามง่ายๆและตอบตัวเองให้ได้ว่า เราได้ประโยชน์อะไรจากทำเลนี้ และพื้นที่ตรงนี้สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้ตรงตามประเภทธุรกิจของเราได้หรือไม่ จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าทำเลดีมีองค์ประกอบต่างๆมากมาย

ร้านสวยช่วยคุณได้

เปิดร้านกาแฟ 09
รูป ร้านกาแฟ

ภาพลักษณ์ของร้านกาแฟก็เปรียบเสมือนรักแรกพบ หรือ love at first sights เพราะความประทับใจแรกของผู้บริโภค คือบรรยากาศของร้านที่มีเสน่ห์นั่นเอง หลักในการทำร้านให้สวยงามน่ามอง มีหลากหลายวิธี อาทิเช่น การใช้แสงและโทนสีในการตกแต่ง ใช้ป้ายหรือข้อความเชิญชวนที่มีเนื้อหาสะดุดตา ตกแต่งตามสไตล์สมัยนิยม เช่น สไตล์มินิมอล สไตล์ลอฟท์ สไตล์อินดัสเทรียล เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนขึ้นอยู่กับจินตนาการและงบประมาณของผู้ประกอบการนั่นเอง

เลือกรสชาติอย่างไรให้โดนใจผู้บริโภค

เปิดร้านกาแฟ 06
รูป ร้านกาแฟ

รูปลักษณ์ภายนอกอาจสามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้าใช้บริการร้านกาแฟได้ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านกาแฟดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคงคือ รสชาติ ของเครื่องดื่มนั่นเอง ดังนั้นพื้นฐานการคิดประดิษฐ์เมนูต่างๆ ควรจะยืนอยู่บนหลักทางสายกลางให้มากที่สุด รสชาติไม่โดดไปในทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ในขณะเดียวกันยังคงเอกลักษณ์ของเครื่องดื่มแต่ละเมนูให้ครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น เมนูกาแฟนม จะต้องมีกลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟที่มีความสดใหม่ มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา วัตถุดิบทีใช้จะต้องไม่กลบจุดเด่นของกาแฟ มีรสชาติกลมกล่อมไม่โดดไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากจนเกินไปเป็นต้น ทั้งหมดนี้ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง และอย่าใช้ลูกค้าเป็นผู้ทดลองเมนูของเราเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นโอกาสแรกและโอกาสสุดท้ายของเราที่จะมีโอกาสนำเสนอสินค้าให้ลูกค้าก็ได้ ดังนั้นเมนูทุกชนิดในร้านจะต้องมั่นใจว่าผ่านกระบวนการคัดสรรค์มาแล้วเป็นอย่างดีนั่นเอง

บริการทุกระดับเน้นหลักสร้างความประทับใจ

เปิดร้านกาแฟ 10
รูป ร้านกาแฟ

การบริการคือหัวใจสำคัญของธุรกิจร้านกาแฟ นอกจากผู้ให้บริการจะต้องมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี มีความสุภาพอ่อนน้อมแล้ว อีกหนึ่งเคล็ดลับพิชิตใจลูกค้าก็คือการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆต่างๆ เช่น การจดจำข้อมูลทั่วไปของลูกค้า เมนูที่โปรดปราน รสชาติที่ชอบ เป็นต้น เทคนิคต่างๆเหล่านี้แสดงออกให้เห็นถึงความเอาใจใส่ลูกค้า เป็นการสร้างความประทับใจให้ลูกค้าอยากที่จะกลับมาใช้บริการร้านของเราในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นการบริการที่ดีนอกจากจะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้แล้ว ยังทำให้ลูกค้ากล้าที่จะสื่อสารกับผู้ประกอบการโดยตรงเมื่อพวกเขาพบข้อผิดพลาดซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของเราด้วยเช่นกัน

ขายดีต้องมีกำไร

เปิดร้านกาแฟ 01
รูป ร้านกาแฟ

วินัยทางการเงินถือว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักจะพบว่าร้านกาแฟขายดี มียอดขายสูง อาจจะไม่มีกำไรเสมอไป แต่บางร้านสามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยได้ด้วยยอดขายไม่กี่แก้วต่อวัน เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลมาจากการขาดประสิทธิภาพในการบริหารการเงินของผู้ประกอบการ หรือเรียกว่าขาดวินัยทางการเงินก็ได้ หลักง่ายๆในการบริหารจัดการเงินลงทุนก็คือการแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน อาจไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ ส่วนแรกเป็นทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มสร้างร้าน ไปจนถึงซื้อวัตถุดิบเป็นต้น ส่วนที่สองคือเงินทุนหมุนเวียนในร้านอย่างน้อยผู้ประกอบการควรจะมีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในร้านเป็นเวลาหนึ่งเดือน ส่วนที่สามเป็นเงินสำรองฉุกเฉินในยามที่เราขาดเหลือสิ่งใด เราสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ได้เป็นการลดความเสี่ยงในการนำเงินนอกเหนือวัตถุประสงค์เข้ามาใช้ในธุรกิจ อย่างเช่น เงินที่กู้ยืมมา หรือเงินที่เราใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นต้น การบริหารการเงินแบบนี้จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าเรามีเงินลงทุนส่วนใดในจำนวนเงินเท่าไร มีส่วนทำให้เราวางเป้าหมายธุรกิจได้อย่างแม่นยำ และเลือกประเภทธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกับตลาดผู้บริโภค อีกทั้งวิธีนี้สามารถช่วยให้เราคิดคำนวณต้นทุนของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เราสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของสินค้าตัวนั้นได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

เลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์

เปิดร้านกาแฟ 02
รูป ร้านกาแฟ

กลยุทธ์ทางการตลาดก็เหมือนดาบสองคม ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกทางก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าหากเลือกใช้ผิดสถานการณ์นอกจากจะสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว อาจจะทำให้เราเสียโอกาสจากสินค้าที่ไม่โดนใจผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ดังนั้นหลักในการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เรียกว่า โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม คือ

  • ใช้สำหรับดึงดูดใจลูกค้าให้มีโอกาสลองสินค้าของเรา อย่างเช่นการให้ส่วนลดเนื่องในโอกาสเปิดกิจการใหม่ หรือ การให้ส่วนลดในโอกาสที่เราต้องการผลักดันสินค้าใหม่ภูมิใจนำเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้า เป็นต้น
  • ใช้เพื่อสร้างความประทับใจ และตอบแทนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ อย่างเช่น แจกหรือแถมสินค้าต่างๆให้ลูกค้าเนื่องในโอกาสที่เราดำเนินกิจการครบรอบหนึ่งปีเป็นต้น
  • ใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย อย่างเช่น ให้โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ในพื้นที่ซึ่งมีการแข่งขันสูง หรือ ในช่วงที่ยอดขายตกเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาแทรกแซงกลไกทางราคานั้น ต้องมีความระมัดระวังให้มากที่สุดเพราะถ้าหากใช้ผิดสถานการณ์นอกจากจะไม่ปังแล้วยังทำให้สถานภาพทางการเงินของเราพังเข้าไปใหญ่

อย่างไรก็ตามการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ปัจจัยที่จะลดความเสี่ยงในธุรกิจของเราได้นั้นไม่ได้มีองค์ประกอบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ต้องใช้การบูรณาการศาสตร์แห่งการบริหารจัดการและการตลาดเข้ากับศิลปะอันมีเสน่ห์ของกาแฟ จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการมีหลักในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , ,