DW คืออะไร? DW13 01 19 16 ต่างกันอย่างไร? l พื้นฐานการเล่น

DW คืออะไร? DW13 01 19 16 ต่างกันอย่างไร? l พื้นฐานการเล่น

หากพูดถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ DW คือการลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมมากไม่แพ้การลงทุนในหุ้นเลยทีเดียว แถมยังใช้บัญชีการซื้อขายเดียวกันด้วย นอกจากนี้โอกาสทำกำไรยังสูงมากด้วย เพราะมีโอกาสทั้งช่วงที่ตลาดขึ้นและลง

Huapood.com รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ DW มาฝากกัน เผื่อว่าเพื่อน ๆ จะมองเห็นโอกาสการลงทุนใหม่เพิ่มเติม แต่อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมาความเสี่ยง โปรดศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน 

Derivative Warrant (DW) คืออะไร

Derivative Warrant (DW) คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ สำหรับอ้างอิงว่าเป็นเจ้าของหุ้นโดยจะระบุราคา จำนวน และระยะเวลาเอาไว้ ซึ่งราคาก็จะอ้างอิงจากหุ้น ถ้าหุ้นตัวนั้นราคาขึ้น DW ก็จะราคาขึ้นตามไปด้วย อายุของ DW มักมีอายุ 2 เดือน – 2 ปี ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดยหลักการซื้อขายก็คล้ายกับหุ้น และ DW ก็อ้างอิงจากหุ้นที่มีใน SET100 หรือดัชนีหุ้น  แต่ต่างตรงที่กำไรได้ทั้งช่วงราคาขึ้นและลง ตามประเภทของ DW นักลงทุนสามารถใช้ตารางราคาเพื่อดูเปรียบเทียบและวางแผนการลงทุน 

ประเภทของ DW

DW แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  • Call DW คือ DW ที่มีราคาเคลื่อนไหวตามราคาหลักทรัพย์อ้างอิง หากคุณคิดว่าราคาหลักทรัพย์ที่อ้างอิงจะพุ่งขึ้นก็ควรลงทุน DW ประเภทนี้ เช่น เมื่อหุ้นที่อ้างอิงราคาพุ่งสูงขึ้น 10 บาท ราคาของ DW ก็จะสูงขึ้น เมื่อคุณขาย DW นี้ออกไปก็จะได้กำไรจากส่วนต่างนั้น
  • PUT DW คือ DW ที่มีราคาเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งเหมาะสำหรับซื้อขายเมื่อนักลงทุนคิดว่าราคาหลักทรัพย์ที่อ้างอิงจะตกลง เช่น หากหุ้นอ้างอิงที่คุณซื้อ DW ปรับตัวลง 10 บาท คุณก็จะกำไรจากส่วนต่าง 10 บาทนั้น เพราะ PUT DW จะราคาสูงขึ้นเมื่อหุ้นอ้างอิงปรับราคาลง 

ทำไมต้องซื้อลงทุนใน DW

  • ทำกำไรได้ตลอด ไม่ว่าราคาหลักทรัพย์อ้างอิงหรือราคาตลาดจะปรับขึ้นหรือลง 
  • ขาดทุนได้เท่าที่มีเงินทุนในบัญชี ไม่มีทางเป็นหนี้สินเพิ่มเติม 
  • ไม่ต้องเปิดบัญชีเพิ่มเติมหากคุณมีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว 
  • ใช้เงินลงทุนต่ำ เพราะการซื้อขาย DW แต่ละครั้งกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100 หน่วย ซึ่ง DW หลายตัวมีราคาต่ำกว่าหุ้นตัวที่อ้างอิงหรือหุ้นตัวแม่มาก ๆ  
  • สภาพคล่องสูง มีการซื้อขายเยอะเหมือนตลาดหุ้น  

ความเสี่ยงของการลงทุน DW

  • DW มีวันหมดอายุ หากขายคืนไม่ทัน มูลค่าก็จะเท่ากับ 0
  • สภาพคล่องต่ำเมื่อ DW ใกล้หมดอายุ ยิ่งใกล้หมดอายุ ยิ่งราคาลด เพราะโอกาสขายยากขึ้น 
  • ค่า Effective Gearing อาจทำให้ขาดทุนเร็วมากขึ้น
  • บริษัทหลักทรัพย์ที่ออก DW ให้ไม่สามารถจ่ายเงินส่วนต่างหรือส่วนที่เป็นกำไรของคุณให้ได้ ดังนั้นต้องเลือกบริษัทผู้ออก DW ที่มีความน่าเชื่อถือ

พื้นฐานและข้อควรรู้ก่อนลงทุน DW 

DW คืออะไร? DW13 01 19 16 ต่างกันอย่างไร? l พื้นฐานการเล่น

การอ่านรหัส DW

รหัสของ DW มักมีตัวอักษรและตัวเลขรวมกันแล้ว 9 – 10 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีความหมายซ่อนอยู่ ดังนี้

ตัวอย่างคือ PTT13C2001A

  • 3 ตัวแรก คือหลักทรัพย์อ้างอิง = PTT แต่ถ้าชื้อหุ้นยาวกว่า 3 ตัว จะตัด 4 ตัวแรกมา
  • 2 ตัวถัดมา คือ รหัสบริษัทผู้ออก DW ตัวนี้ให้เรา = 13 คือรหัสของบริษัท KGI 
  • ตัวอักษร คือประเภท DW ซึ่ง C ย่อมาจาก Call และ P ย่อมาจาก Put
  • ตัวเลข 4 ตัว คือ วันสิ้นสุดสัญญา แบ่งเป็นปีและเดือน 20 คือปี 2020 และ 01 คือเดือนมกราคม
  • ตัวอักษร คือรุ่นหรือชุดของ DW เช่น A คือรุ่น A 

Effective Gearing หรืออัตราทด 

Effective Gearing หรืออัตราทด มีหน่วยเป็น tick (ทิก) คือตัวบ่งบอกว่าราคาของ DW จะขึ้นหรือลงเป็นกี่เท่าเมื่อหลักทรัพย์ที่อ้างอิงหรือหุ้นตัวแม่เปลี่ยนแปลงไป 1%  เช่น อัตราทด 5 เมื่อราคาหุ้นตัวแม่เพิ่มไป 1% ราคาของ DW ก็จะเพิ่มไปถึง 5% ในทางกลับกัน หากว่าราคาหุ้นตัวแม่ลดลง 1% ราคาของ DW ก็จะลดลง 5% เช่นกัน 

นักลงทุนสามารถเลือก Effective Gearing หรืออัตราทดให้น้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกกว่าก็ได้ หากเลือกน้อยกว่า เมื่อราคาหุ้นตัวแม่หรือหลักทรัพย์อ้างอิงเพิ่มขึ้น ราคา DW ก็จะวิ่งขึ้นช้ากว่าราคาหุ้นตัวแม่ แต่จะขึ้นช้ากว่าตัวแม่ มากน้อยขึ้นอยู่กับอัตราทดที่เลือก หากเลือกที่เท่ากัน ราคา DW ก็จะขึ้นเท่ากัน ไม่มีการทดเพิ่มใด ๆ แต่หากเลือกแบบมากกว่า ราคา DW ก็จะสูงขึ้นตามจำนวนหน่วย thick ที่เลือก 

ซึ่ง Effective Gearing หรืออัตราทดนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสกำไรมากขึ้นในการเทรดแต่ละครั้ง และเช่นเดียวกันก็จะลดความเสี่ยงในการขาดทุนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเลือกอัตรทดสูง หุ้นขึ้นไวก็จะได้กำไรเยอะ แต่หากหุ้นตกไวก็จะขาดทุนเยอะ 

Sensitivity หรือความอ่อนไหว 

Sensitivity หรือความอ่อนไหว เป็นเครื่องมือวัดความแกว่งตัวของราคา DW ต่อราคาหลักทรัพย์ที่อ้างอิงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคา เช่น Sensitivity 2 เมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงหรือหุ้นตัวแม่เปลี่ยน 1 ช่องราคา ราคาของ DW จะเปลี่ยนไป 2 ช่องราคา

ค่า Sensitivity ยิ่งสูงก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนเห็นการเคลื่อนไหวของราคา DW ได้ชัดเจนมากขึ้น เหมาะสำหรับการเก็งกำไรช่วงสั้น ๆ หรือต้องการเห็นการเคลื่อนไหวของราคา DW ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

Implied Volatility (IV) หรือความผันผวนแฝงของราคา 

Implied Volatility หรือความผันผวนแฝงของราคา คือค่าเปอร์เซ็นต์ของความผันผวนของหลักทรัพย์อ้างอิงหรือหุ้นตัวแม่ โดยอ้างอิงจากควาผันผวนจากราคาในอดีต ซึ่งหากค่า Implied Volatility สูงก็แสดงว่า DW มีราคาแพง

Time Decay หรือค่าเสื่อมเวลา

Time Decay หรือค่าเสื่อมเวลา คือมูลค่าที่ลดลงตามระยะเวลาของ DW เพราะ DW มีวันหมดอายุจึงต้องมีเรื่องค่าเสื่อมเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดย Time Decay จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต่อ 1 วัน และบางบริษัทอาจคิด Time Decay สำหรับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ต่ำกว่าวันอื่น ๆ หรืออาจไม่คิดเลยก็ได้เพราะถือว่าตลาดซื้อขายปิด ดังนั้นนักลงทุนควรเลือก Time Decay ต่ำ ๆ เอาไว้ก่อน นอกจากนี้ยิ่ง DW เหลืออายุน้อย ค่า Time Decay ก็จะยิ่งสูงมากด้วย 

DW คืออะไร? DW13 01 19 16 ต่างกันอย่างไร? l พื้นฐานการเล่น

DW และวันหมดอายุ

หากว่านักลงทุนขาย DW ไม่ทันก่อนวันหมดอายุจะเกิดอะไรขึ้น ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่า DW ตัวนั้นมีสถานะสิทธิหลังวันหมดอายุเป็นประเภทใด 

วิธีการตรวจสอบ

  1. เข้าไปที่โปรแกรม Streaming ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับซื้อขายหุ้นและ DW 
  2. เลือกเมนู Quote
  3. พิมพ์รหัส DW ที่ต้องการค้นหา 
  4. ดูวันหมดอายุได้และประเภทสถานะได้ในกรอบสีแดง

ประเภทสถานะ

  • Out-of-the-Money (OTM) และ At-the-Money (ATM) เมื่อ DW หมดอายุ มูลค่าจะกลายเป็นศูนย์บาททันที ไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ  
  • In-the-Money (ITM) เมื่อ DW หมดอายุ ระบบจะขายสิทธิให้โดยอัตโนมัติไม่ว่าตอนนั้นราคาจะอยู่ที่เท่าไร และต้องนำเงินจำนวนนี้ทั้งก้อนไปคำนวณภาษีรายปี

ภาษีและ DW

การลงทุน DW แตกต่างจากหุ้นเล็กน้อยในเรื่องภาษี เพราะหุ้นมีปันผล และจะเสียภาษีเฉพาะตัวปันผลเท่านั้น แต่ DW จะมีเงื่อนไขพิเศษเรื่องภาษีดังนี้

ไม่เสียภาษี

  • เมื่อขายคืน DW ก่อนครบกำหนดหมดอายุ 
  • เมื่อ DW หมดอายุ แต่ DW ต้องมีสถานะ Out-of-The-Money เท่านั้น เพราะมูลค่าของ DW จะเท่ากับ 0 โดยอัตโนมัติ 

เสียภาษี

  • เมื่อ DW หมดอายุ และ DW นั้นมีสถานะ In-the-Money (ITM) ระบบจะขายคืนให้อัตโนมัติ ไม่ว่าจะได้คืนเท่าไรก็ต้องนำไปคำนวณภาษีทั้งหมด เช่น ลงทุนไป 10,000 บาท แต่เมื่อ DW หมดอายุ มูลค่าทั้งหมดลดลงเหลือเพียง 5,000 บาท ก็ต้องนำยอดเงิน 5,000 บาทไปคิดเป็นเงินได้ของปีนั้น ไม่ว่าคุณจะขาดทุนหรือได้กำไรก็ตาม

การเปิดบัญชีซื้อขาย DW

หากเพื่อน ๆ มีบัญชีซื้อขายหุ้นประเภท Cash balance ที่เปิดกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ก็สามารถใช้บัญชีนั้นซื้อขาย DW ได้ทันที 

แต่หากต้องการเปิดบัญชีใหม่เพราะไม่เคยมีบัญชีสำหรับซื้อขายหุ้นเลย ก็สามารถติดต่อบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ หรือสอบถามธนาคารที่ใช้บริการอยู่ เพราะธนาคารส่วนใหญ่มักมีบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ด้วยเช่นกัน จึงให้คำแนะนำในการเปิดบัญชีเบื้องต้นได้ 

วิธีการเทรด DW

การซื้อขาย DW ทำแบบเดียวกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป คือ

  • เปิดขาย IPO (การเสนอขายหุ้นใหม่ครั้งแรก) ต่อนักลุงทุนทั่วไป 
  • ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์

วิธีการเลือก DW

  1. เลือกหลักทรัพย์อ้างอิงหรือหุ้นตัวแม่ หรือเลือกเป็นดัชนี SET50, SET100 ก็ได้เช่นกัน 
  2. เลือกประเภทของ DW ว่าต้องการเป็นแบบ Call หรือ PUT
  3. เลือก DW ที่มีอายุเหลือมากกว่าเป้าหมายการลงทุนของคุณ 
  4. เลือก Effective Gearing หรืออัตราทด ตามที่ต้องการ 

DW01, DW13, DW16, DW19 คืออะไร

ตัวเลขหลัง DW คือรหัสของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีสิทธิออก DW ได้ ซึ่งชื่อบริษัทนี้จะปรากฏอยู่ในชื่อรหัสของ DW (ตัวเลข 2 ตัว ในตำแหน่งที่ 4 และ 5) ด้วย บางครั้งนักลงทุนจะเรียกบริษัทเหล่านี้ว่าค่าย โดยขอยกตัวอย่างมาเพียง 4 ค่าย

DW01 คือ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)

ข้อดี มีคนนิยมเยอะ ทำให้มีสภาพคล่องสูง Effective Gearing (อัตราทด) ไม่สูงมาก และ Time Decay (ค่าเสื่อมเวลา) ค่อนข้างต่ำ ออก DW ค่อนข้างครอบคลุมหลักทรัพย์อ้างอิงหรือหุ้นเด่น ๆ หลายตัวจึงมีความหลากหลาย

DW13 คือ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน)

ข้อดี เป็นที่นิยมจึงทำให้มีสภาพคล่องสูง Effective Gearing (อัตราทด) ให้เลือกสูงมากที่สุด ตั้งแต่ 8 – 13 เท่า ค่า Time Decay (ค่าเสื่อมเวลา) ค่อนข้างสูงและยังคิดในวันหยุดด้วย และออก DW เยอะ ครอบคลุมเกือบทุกหลักทรัพย์  

DW16 คือ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)

ข้อดี  Effective Gearing (อัตราทด) สูง ค่า Time Decay (ค่าเสื่อมเวลา) ต่ำและไม่คิดในวันหยุด มักออก DW ที่อ้างอิงจากหลักทรัพย์หรือหุ้นตัวแม่ที่มีมูลค่าหรือเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างสูง  

DW19 คือ Yuanta Securities (Thailand) Company Limited

ข้อดี ราคาตรงตามตารางที่แสดงให้เห็น สภาพคล่องสูง มี DW ให้เลือกหลายตัว โดยเฉพาะตัวยอดนิยม ไม่คิดค่า Time Decay (ค่าเสื่อมเวลา) ในวันหยุด 

เลือก DW จากค่ายไหนดี 

การเลือก DW จากค่ายไหน ไม่เกี่ยวกับการเปิดบัญชีซื้อขาย DW กับโบรกเกอร์ไหน เพราะ DW สามารถซื้อขายได้ผ่านบัญชีหุ้นที่เปิดกับโบรกเกอร์ไหนก็ได้หรือใช้บัญชีที่มีอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน 

แต่การเลือก DW จากค่ายไหน หมายถึงว่าเลือก DW ที่บริษัทหลักทรัพย์ใดเป็นออกสิทธิ์การถือครอง โดยแต่ละค่ายก็มีจุดเด่นต่างกันอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนหลักเกณฑ์การเลือกมีดังนี้ 

  • ความรวดเร็วในการทำตารางราคา ยิ่งทำราคาได้ไว นักลงทุนอย่างเราก็จะมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ไว ทำกำไรได้ไวกว่า
  • ค่ายได้รับความนิยมจากนักลงทุน เพราะจะทำให้มีสภาพคล่องสูง มีโอกาสซื้อง่ายขายง่ายกว่า ยิ่งขายง่ายยิ่งดีเพราะ DW มีวันหมดอายุ
  •  ค่า Time Decay (ค่าเสื่อมเวลา) ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุน เช่น หากลงทุนระยะสั้น เทรดจบในวันเดียวก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องค่า Time Decay ในวันหยุด 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ DW

ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขาย DW เป็นเท่าไหร่?

ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขาย DW เหมือนกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเอาไว้ 

ต้องเปิดบัญชีใหม่เพื่อซื้อขาย DW หรือไม่

หากมีบัญชีซื้อขายหุ้นประเภทบัญชีเงินสดหรือ cash balance อยู่แล้ว สามารถใช้ซื้อขาย DW ได้เลย ไม่ว่าบัญชีนั้นจะเปิดกับบริษัทหลัการัพย์ใดก็ตาม

ตารางราคาสำคัญอย่างไร

ตารางราคาจะแสดงราคารับซื้อคืน (Bid) ของ DW เมื่อเทียบกับหลักทรัพย์อ้างอิงหรือหุ้น ใช้หาราคาที่เหมาะสมในการซื้อ DW ช่วยให้วางแผนลงได้ง่ายขึ้น

หากหลักทรัพย์อ้างอิงหรือหุ้นตัวแม่จ่ายปันผลจะมีผลกระทบกับ DW หรือไม่

ราคาหลักทรัพย์หรือหุ้นตัวแม่มักปรับขึ้นหรือลงเป็นจำนวนพอ ๆ กับที่จ่ายเงินปันผลออกไป DW จะมีสูตรคำนวณชดเชยส่วนนั้นไป แต่หากว่าราคาปรับขึ้นหรือลงมากกว่าจำนวนปันผลที่จ่ายออกไป ราคา DW ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง

หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เพิ่มทุน แตกพาร์ แจกหุ้นปันผลจะส่งผลอย่างไรต่อ DW 

DW ก็จะรับสิทธิเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ตามอันตราส่วนเดียวกัน 

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , ,