กองทุน SSF คือ? กองไหนดี? ข้อสรุปทุกอย่างที่ควรรู้ก่อนลงทุน

กองทุน SSF คือ? กองไหนดี? ข้อสรุปทุกอย่างที่ควรรู้ก่อนลงทุน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ามีการประกาศยกเลิกกองทุน LTF หรือ (Long Term Equity Fund) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าจะมีกองทุนตัวไหนเข้ามาแทน และ ณ ตอนนี้เราก็ได้รู้กันแล้วว่ากองทุนที่จะเข้ามามีบทบาทแทนกองทุน LTF ก็คือกองทุน SSF นั่นเอง

กองทุน SSF คืออะไร?

กองทุน SSF หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Super Saving Fund เป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวสะสมไว้หลังเกษียณ ตามแนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุ ลงทุนได้ในหลักทรัพย์ทุกประเภท ทั้งตราสารหนี้และกองทุนรวม นอกจากนี้ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกองทุน LTF ได้อีกด้วย

เงื่อนการลงทุนในกองทุน SSF

  1. ซื้อกองทุนและนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ ฯล ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  2. ลงทุนในหลักทรัพย์ใดก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนทองคำ กองทุนดัชนี ฯลฯ
  3. ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน
  4. ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องในทุกปี
  5. ต้องถือ 10 ปีแบบวันชนวัน เช่น หากซื้อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จะต้องถือให้ครบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2573

กองทุน SSF เหมาะกับใคร?

อย่างที่ทราบกันว่ากองทุน SSF ได้เข้ามาเป็นกองทุนตัวใหม่แทน LTF ที่มีฟีดเจอร์ภายในบางอย่างแตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่ากองทุน SSF เหมาะสำหรับผู้มีรายได้ประจำหรือบุคคลทั่วไปที่อยากจะออมเงินในระยะยาวไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยพร้อมที่จะรับความเสี่ยงตามเงื่อนไขของการลงทุน

กองทุน SSF แตกต่างจาก LTF RMF อย่างไร?

จากที่ได้กล่าวไปว่ากองทุน LTF จะหายไป และมีกองทุนตัวใหม่เข้ามาอย่าง SSF อีกทั้งยังมีการอัปเดตกองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอีกด้วย เราจะมาดูกันว่าทั้งสามกองทุนอย่าง SSF, LTF และ RMF มีความแตกต่างกันอย่างไร จากตารางเปรียบเทียบนี้

เงื่อนไข ประเภทกองทุน
SSF LTF RMF
ลดหย่อนภาษี (%ของรายได้พึงประเมิน) 30% 15% 30%
วงเงินสูงสุดที่ลดหย่อนได้ 200,000 500,000 500,000
ระยะเวลาถือครอง 10 ปี (วันชนวัน) 7 ปี (ปีปฏิทิน) 5 ปี (ซื้อต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์)
การลงทุน สินทรัพย์ใดก็ได้ หุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% สินทรัพย์ใดก็ได้
ความต่อเนื่อง ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีตลอดระยะเวลาถือครอง (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี)
เงินลงทุนขั้นต่ำ ไม่มีกำหนด ไม่มีกำหนด ไม่มีกำหนด

การลดหย่อนภาษี

กองทุน SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนกองทุน LTF ที่ปัจจุบันถูกยกเลิกแล้ว สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และกองทุน RMF ปรับอัตราส่วนให้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นจากเดิมคือ 15% ของเงินได้ ให้เป็น 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

จากข้อมูลด้านการลดหย่อนภาษีของทั้งสามกองทุน หากต้องการให้สรุปแบบสั้น ๆ ว่าใครได้ใครเสียบ้าง ก็ต้องบอกว่ากลุ่มที่เสียภาษีเพิ่มคือกลุ่มที่มีรายได้สูง (รายได้ต่อปีสูงกว่า 3.3 ล้านบาทโดยประมาณ) เพราะเมื่อยังมีกองทุน LTF คนกลุ่มนี้ก็จะได้ลดหย่อนสูงสุด 500,000 ต่อปี และมักจะซื้อ RMF อีกเต็มจำนวน 500,000 บาทต่อปี ทำให้สามารถลดหย่อนรวมกันได้ถึง 1,000,000 บาทต่อปี

แต่เมื่อเปลี่ยนซื้อกองทุน SSF แล้ว หากยังจำเงื่อนไขที่ว่า “และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท” ได้ กองทุน RMF ก็จัดอยู่ในกองทุนเพื่อการเกษียณเช่นกัน ทำให้เพดานการลดหย่อนสูงสุดอยู่ที่เพียง 500,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นแล้วกลุ่มคนมีรายได้สูงจะลดหย่อนภาษีได้น้อยลงและต้องเสียภาษีเพิ่ม

ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มคนที่มีรายได้ประมาณ 69,000 บาทต่อปี หรือ 830,000 บาทต่อปี ที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้จากทั้งกองทุน SSF และ RMF อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 30% และยังไม่เกิน 500,000 บาท

ระยะเวลาการถือครอง

สำหรับกองทุน LTF มีระยะเวลาในการถือครอง 7 ปี โดยนับแบบปีปฏิทิน เช่น หากซื้อกองทุน LTF วันที่ 30 ธันวาคม ในปีไหนก็นับปีนั้นเป็น 1 ปี แม้ในความเป็นจริงเวลาเพิ่งจะผ่านไปเพียง 1-2 วันเท่านั้น

กองทุนใหม่อย่าง SSF จะมีระยะเวลายาวนานกว่าและการนับที่ละเอียดกว่า อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น คือ 10 ปี นับแบบวันชนวัน

และกองทุน RMF จะต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี และสามรถขายกองทุนได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อการเกษียณนั่นเอง

การลงทุน

กองทุน SSF, RMF แตกต่างจากกองทุน LTF ตรงที่ว่ากองทุน LTF มีการบังคับว่าจะต้องลงทุนหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% ส่วนกองทุน SSF และ RMF สามารถลงทุนกับสินทรัพย์ได้ทุกประเภท มีความหลากหลายทางการลงทุนมากกว่ากองทุน LTF

กองทุน SSF มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง?

ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงสำหรับ จากการวิเคราะห์มองได้ว่าความเสี่ยงของกองทุน SSF แบ่งออกเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

ความเสี่ยงที่ไม่มีใครทราบมาก่อน

กองทุน SSF เป็นกองทุนใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึงปี จึงยังไม่สามารถสรุปหรือเห็นเทรนด์ของผลตอบแทนได้อย่างแน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกองทุนนี้ได้จากธนาคารที่ทำการซื้อกองทุนได้เสมอ

ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนในกองทุนเช่นกัน และปัจจัยที่ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นก็มีหลายด้าน ดังเช่นข้อที่ 3. ที่จะกล่าวต่อไป

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจและการเมืองเป็นสองแกนหลักสำคัญของประเทศ มีผลต่อกันและกัน และมีผลต่อตลาดหุ้น ซึ่งในปี 2563 ก็เกิดเหตุการณ์มากมายทั้งที่คาดถึงและคาดไม่ถึง ดังนั้นจึงต้องวางแผนรับมือให้ดีที่สุด และจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสม กระจายความเสี่ยงให้ดี ๆ

จะซื้อกองทุน SSF ได้ที่ไหน?

ปัจจุบันสามารถซื้อกองทุนได้ที่ธนาคารหลายแห่ง และสามารถซื้อได้อย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้วสัมผัส ผ่านแอปพลิเคชัน MBanking ของแต่ละธนาคาร เรามาดูกันดีกว่าว่ากองทุน SSF ของแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร มีจุดเด่นและข้อดีอย่างไรบ้าง

#1
กองทุน SSF ธนาคารไทยพาณิชย์
SSF SCB

กองทุน SSF คือ? กองไหนดี? ข้อสรุปทุกอย่างที่ควรรู้ก่อนลงทุน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

SCBLT1-SSF

เป็นกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอประมาณ 65-70% และส่วนที่เหลือกระจายลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะกับผู้ที่รับความผันผวนได้และต้องการเพิ่มผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนส่วนใหญ่

SCBLEQ-SSF

กองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบลงทุนภายใต้ความผันผวนที่ต่ำ เพราะเป็นกองทุนที่คัดเลือกหุ้นทั่วโลกจากปัจจัยพื้นฐานพร้อมทั้งมีความผันผวนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม

SCBSFFPLUS-SSF

กองทุนตราสารหนี้เพื่อการออมระยะสั้น ซึ่งถูกนำไปลงทุนซื้อขายล่วงหน้าทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่มีการเจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว และมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง

SCBGOLDH-SSF

กองทุนไทยพานิชย์โกลด์ ถือเป็นกองทุนที่ถูกออกแบบมาเพื่อเอาใจกลุ่มคนเล่นทองโดยเฉพาะ เพราะเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดี รวดเร็วทันใจ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน หากใครสนใจกองทุนนี้อาจต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการประเมินราคาทองคำเป็นพื้นฐานร่วมด้วย

#2
กองทุน SSF ธนาคารกสิกรไทย
SSF K-Bank

กองทุน SSF คือ? กองไหนดี? ข้อสรุปทุกอย่างที่ควรรู้ก่อนลงทุน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

K-FIXEDPLUS-SSF

กองทุนนี้จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำที่สุด คือระดับ 4 เท่านั้น มีความผันผวนต่ำ เน้นการเซฟเงินต้นให้ปลอดภัย เน้นการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งในและต่างประเทศ

K-GINCOME-SSF

เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงจัดอยู่ในระดับ 5 หรือระดับปานกลาง กระจายลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกที่จ่ายผลตอบแทนสูงทั้งในรูปแบบดอกเบี้ยและเงินปันผล ให้ความผันผวนต่ำกว่าหุ่นและมีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ จึงถือได้ว่าเป็นกองทุนที่รักษาสมดุลในความเสี่ยงของการลงทุนแบบผสม

K-CHANGE-SSF

แนวคิดของกองทุนตัวนี้ก็คือการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ได้สร้างสิ่งที่ดีให้โลก ผ่านกองทุนหลัก Baillie Gifford Positive Change Fund – Class B accumulation (GBP) จากการวิเคราะห์หุ้นที่น่าสนใจกว่า 1,000 บริษัททั่วโลก เป็นการลงทุนตามเจตนารมณ์ของ UN ที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน เหมาะสำหรับผู้ที่พร้อมรับความเสี่ยงสูง

K-STAR-SSF

เน้นการลงทุนหุ้นไทยในบริษัทชั้นนำที่มีความมั่นคง มีความเสี่ยงที่สูงอยู่ในระดับ 6 แต่มีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ซึ่งจะคอยจับจังหวะซื้อขายหุ้นตลอดเวลาเพื่อรักษาโอกาสในการทำกำไรทุกช่วง

#3
กองทุน SSF ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด มหาชน
SFF BANK OF AYUDHYA PUBLIC COMPANY LIMITED

กองทุน SSF คือ? กองไหนดี? ข้อสรุปทุกอย่างที่ควรรู้ก่อนลงทุน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

KFCASHSSF

เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ซึ่งธนาคารกรุงศรีจัดประเภทให้อยู่ในความเสี่ยงระดับ 1 เท่านั้น เน้นการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า 85%

KFHAPPYSSF

มาพร้อม Concept “จ่าย ครบ จบในกองเดียว” เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ 75-100% ของ NAV และหุ้น Property Fund, REITs และ Infrastructure fund สูงสุดไม่เกิน 25% ของ NAV มีระดับความเสี่ยงปานกลาง

KFENS50SSF

เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เหมาะสำหรับผู้ที่รับความผันผวนสูง ๆ ได้ เป็นการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ ตัวท็อปของดัชนี SET50 ประมาณ 90% พร้อมทั้งลงทุนเชิงรุกในหุ้นที่นอกเหนือดัชนี SET ประมาณ 10%

#4
กองทุน SSF ธนาคารกรุงไทย
SSF KTB

กองทุน SSF คือ? กองไหนดี? ข้อสรุปทุกอย่างที่ควรรู้ก่อนลงทุน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

KT70/30S-SSF

กองทุนเพื่อการออมซึ่งมีอัตราค่าเฉลี่ยการลงทุนอยู่ที่ 70-30 มีการปันผลปีละประมาณ 3-4 ครั้ง ถือเป็นกองทุนระยะสั้นที่น่าจับตามองของธนาคารกรุงไทยเลยทีเดียว

KTSRI-SSF

กองทุนระยะกลาง-ยาว ที่ให้ผลประกอบการดี แต่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับผลการลงทุนในตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญ

KTSUK-SSF

กองทุนกรุงไทยสุขใจเพื่อการออม เน้นการลงทุนในกลุ่มของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง สามารถเน้นผลการดำเนินงานได้ในระยะยาว

และนี่ก็คือการแนะนำกองทุนตัวใหม่อย่าง “กองทุน SSF” ว่าคืออะไร มีเงื่อนไขการลงทุนอย่างไร และให้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง รวมถึงการเปรียบเทียบกับกองทุน LTF ที่ถูกยกเลิกแล้วในปัจจุบัน และการอัปเดตกองทุน RMF ที่มีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง เมื่อลงทุนแล้วอาจจะได้รับผลตอบแทนเท่าเดิม มากกว่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิมก็ได้ ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ดีก่อนตัดสินใจใด ๆ

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , , ,