ต่อภาษีรถยนต์ ทำที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ในปี 2563

ภาษีรถยนต์

ต่อภาษีรถยนต์ หรือการต่อทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองรถยนต์ที่จะต้องทำการชำระทุกๆปี ซึ่งหากเราละเลย หลงลืม ไม่ทำการต่อภาษีรถยนต์ เราอาจถูกดำเนินการทางกฏหมาย เสียค่าปรับ อื่นๆ จะเห็นได้ว่าการต่อภาษีรถยนต์นั้นสำคัญไม่แพ้กับการทำ พ.ร.บ. รถยนต์เลย ดังนั้นเรา Huapood ได้เตรียมบทสรุปเกี่ยวกับภาษีรถยนต์มาให้ด้านล่างนี้แล้ว!

ภาษีรถยนต์คืออะไร

ภาษีรถยนต์ คือ เงินที่คนมีรถยนต์ทุกชนิดต้องจ่ายให้กับรัฐบาลตามอัตราที่กำหนด โดยผ่านทางกรมขนส่งทางบก สังกัดกระทรวงคมนาคม ดังนั้นคนที่มีรถยนต์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ หรือชอบเรียกอีกอย่างว่าต่อทะเบียนรถ จึงถือว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยผู้เป็นเจ้าของรถทุกคนที่ซื้อรถยนต์แล้วมีทะเบียนขึ้นอยู่กับกรมขนส่งทางบก ต้องทำหน้าที่จ่ายภาษีรถยนต์หรือต่อทะเบียนรถยนต์เป็นประจำทุกปี ทุกวันนี้เราจะเห็นว่า รถยนต์เยอะมากหากเอารถยนต์ที่จอดรอขายอยู่ตามร้านขายรถยนต์มือสองทั่วไปออกมาวิ่งบนถนนให้หมด ประเทศไทยคงไม่มีถนนให้วิ่ง การจราจรคงเป็นอัมพาต ซึ่งหากดูยอดขายรถยนต์ในปี 2560 ขายรถยนต์ได้รวม 870,748 คัน และใน 2561 มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 19.2% โดยมียอดขายอยู่ที่ 1,039,158 คัน รถยนต์มีแต่เพิ่มขึ้นทุกๆปี แต่รถยนต์เก่าๆยังคงเห็นวิ่งบนถนนเต็มไปหมด เราเชื่อว่ารถยนต์ที่วิ่งบนถนนส่วนใหญ่จะเช่าซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆหรือที่เรียกว่ารถติดไฟแนนซ์ โดยในปีแรกไฟแนนซ์จะจ่ายให้ถือว่าเป็นของแถม และเมื่อใกล้ครบกำหนดในการต่อภาษีรถยนต์ ทางไฟแนนซ์ ก็จะมีหนังสือแจ้งมาถึงบ้านให้จ่ายเงินค่าภาษีรถยนต์ประจำปี โดยคิดค่าดำเนินการในการต่อภาษีให้เป็นเงินหลายร้อยบาท แล้วแต่ทางไฟแนนซ์จะกำหนด ซึ่งจริงๆแล้วแม้รถยนต์ของเราจะติดไฟแนนซ์เราก็สามารถต่อภาษีรถยนต์เองได้ มีหลายคนถามว่าเราไม่ต่อภาษีได้หรือไม่ ไม่ต่อก็ได้สามารถขับบนท้องถนนได้แต่เมื่อเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ขนส่งตรวจพบว่าไม่ได้ต่อภาษีหรือภาษีขาด ก็จะดำเนินการปรับตามกฎหมายและแจ้งให้เราไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งให้ถูกต้อง ซึ่งเราก็จะเสียค่าปรับในการชำระภาษีล่าช้าหรือขาดต่อภาษีรถยนต์

ต่อภาษีรถยนต์ต้องเตรียมอะไรบ้าง

ต่อภาษีรถยนต์ helloquence-OQMZwNd3ThU-unsplash
รูป ต่อภาษีรถยนต์

ในการต่อภาษีรถยนต์ กรณีรถยนต์ของเราไม่ติดแก๊ส ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส LPG หรือ CNG ก็ตามเราจะต้องมีเอกสารดังนี้

  1. หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถยนต์ (เล่มทะเบียน) หรือสำเนาการจดทะเบียนรถยนต์

กรณีรถยนต์ที่ซื้อเงินสดหรือชำระไฟแนนซ์หมดแล้ว สามารถนำหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถยนต์หรือสำเนาการจดทะเบียนรถยนต์มายื่นขอต่อภาษีรถยนต์ได้เลย แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์ที่ติดไฟแนนซ์ เพียงนำสำเนาการจดทะเบียนรถยนต์ที่ทางไฟแนนซ์มอบให้โดยจะเป็นใบที่ระบุรายละเอียดของรถยี่ห้อ สี เลขตัวถัง, เลขเครื่อง, เจ้าของรถ และผู้ครอบครองรถยื่นขอต่อภาษีได้เลยเช่นกัน

  1. หลักฐานการทำประกันตาม พ.รบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

เป็นการทำประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องมี เพื่อคุ้มครองตัวบุคคลเมื่อประสบอุบัติเหตุ ทั้งตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกรวมถึงคู่กรณีด้วย ซึ่งเราเรียกว่าผู้ประสบภัยจากรถ  ดังนั้นถ้าไม่มีหลักฐานการทำประกันดังกล่าวเราไม่สามารถต่อทะเบียนรถยนต์ได้

  1. หลักฐานการผ่านการตรวจสภาพรถ หรือที่เรียนว่า ตรวจ ตรอ.

กรณีรถยนต์ของเราจดทะเบียนหรือเสียภาษีไม่ถึง 7 ปี ไม่ต้องตรวจสภาพรถยนต์กฎหมายว่าอย่างนั้น หลักฐานในส่วนนี้ไม่ต้องใช้ แต่รถยนต์ของเราจดทะเบียนครบ 7 ปีแล้ว ปีต่อไปจะต้องทำการตรวจสภาพรถยนต์ว่าพร้อมใช้งานในท้องถนนได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยเราสามารถตรวจสภาพรถที่กรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ยกเว้นรถที่ขาดการต่อทะเบียนเกิน 1 ปี หรือมีการดัดแปลงสภาพจนไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ในสมุดคู่มือประจำรถ ต้องนำรถไปตรวจที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้น เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้วผู้ตรวจก็จะออกใบรับรองมาให้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อทะเบียนรถยนต์ต่อไป

  1. ถ้าเป็นรถยนต์ที่ติดแก๊ส LPG หรือ CNG

เราต้องนำรถยนต์ตรวจรับรองการการติดตั้งและตรวจสภาพจากวิศวกรผู้ได้รับการรับรอง โดยถ้าเป็น LPG ต้องทำการตรวจสภาพถังทุกปี เมื่อถังมีอายุครบ 10 ปี สามารถทำการตรวจเพื่อยืดอายุถังได้อีก 5 ปี แต่ถ้าเป็น CNG ต้องทำการตรวจสภาพถังทุกๆ ปี หลังจากตรวจและทดสอบแล้วเราจะได้รับหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบการติดตั้งสามารถนำไปยื่นประกอบการจดทะเบียนหรือต่อภาษีรถยนต์ได้

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์

ขั้นตอนการต่อภาษีในปัจจุบันไม่ได้ยุ่งยากกลับสะดวกและรวดเร็วหากคนไม่เยอะและเอกสารพร้อม นำเอกสารทั้งหมดตามที่กล่าวมาดังกล่าวข้างต้น เดินทางไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งสาขา ยื่นต่อพนักงานฯ ชำระเงินตามที่พนักงานบอก รับป้ายวงกลมเราชอบเรียกอย่างนั้น จริงๆแล้วป้ายสี่เหลี่ยม รับใบเสร็จรับเงินเป็นอันเสร็จพิธี หรือบางจังหวัดบริษัทรับทำพรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รับต่อทะเบียนให้โดยคิดค่าบริการ 50-100 บาท

ต่อภาษีรถยนต์ที่ไหนได้บ้าง

ดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อเตรียมเอกสารพร้อม และไม่เคยค้างภาษีเลยเสียภาษีทุกปี ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีสามารถนำเอกสารทั้งหมดไปต่อภาษีได้ ซึ่งเปิดให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกหลากหลายที่ดังนี้

  1. สำนักงานขนส่งจังหวัดและสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา ทั่วประเทศ
  2. ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เพราะไปรษณีย์ไทยกระจายทั่วประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่มากกว่าสำนักงานขนส่งเสียอีก อยู่ใกล้ไปรษณีย์ไหนติดต่อเสียภาษีได้เลย
  3. เคาท์เตอร์เซอร์วิสที่เปิดให้บริการ หรือที่เรารู้จัก คือร้าน 7-11 ที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง อันนี้ยิ่งเยอะกว่าสำนักงานขนส่งและไปรษณีย์รวมกัน เพียงแต่เราจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเท่านั้นเอง
  4. ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมโครงการ สำหรับคนที่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า วันธรรมดาไม่ว่างที่จะไปต่อภาษีรถยนต์ เพราะมีห้างสรรพสินค้าจำนวนมากที่เข้าร่วมให้บริการต่อภาษีรถยนต์ เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์
  5. ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถต่อภาษีรถยนต์พร้อมกับไปทำธุรกรรมการเงินอื่นได้อีกด้วย
  6. ต่อภาษีรถยนต์ ออนไลน์ เพื่อความรวดเร็ว สะดวก และสบาย ง่ายๆด้วยปลายนิ้ว เราสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ที่ https://www.dlt.go.th/th/ เพียงลงทะเบียนเพื่อขอรหัสผ่าน ก็สามารถทำการต่อทะเบียนรถยนต์ออนไลน์ได้ ช่องทางนี้สามารถต่อได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

รถเราต้องเสียภาษีเท่าไหร่

ต่อภาษีรถยนต์
รูป ต่อภาษีรถยนต์

รถเก๋ง ตู้ กระบะ ของเราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ตัวอย่างการคำนวณภาษีรถยนต์

สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ในทุกๆ ปี จะต้องเสียภาษีรถยนต์ประจำปีหรือเรียกว่าต่อทะเบียนให้กับกรมขนส่งทางบก โดยรถยนต์ส่วนบุคคล ที่จะต้องเสียภาษีแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. รถSUV รถเก๋งและรถกระบะ 4 ประตู คือรถที่มีป้ายทะเบียนสีขาวตัวหนังสือสีดำ เป็นประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ไม่เกิน 7 ที่นั่งคำนวณภาษีรถจะขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องยนต์ (c.c.) โดยรายละเอียดมีดังนี้

ตั้งแต่ 1 – 600 c.c. คิด c.c. ละ 50 สตางค์
ตั้งแต่ 601-1800 c.c. คิด c.c. ละ 1.50 บาท
ตั้งแต่ 1801 c.c. ขึ้นไป คิด c.c. ละ 4 บาท
ตัวอย่างการคำนวณภาษีรถยนต์ รถยนต์กระบะสี่ประตูรุ่นหนึ่ง เครื่องยนต์ 2,495 c.c.
(ช่วง 1,801 – 2,495 c.c. คิด c.c. ละ 4 บาท วิธีคิด (2,495-1,800) = 695 x 4 = 2,780)
(นำตัวผลลัพธ์ที่คำนวณได้ในแต่ละช่วง c.c. มาบวกกัน = 300+1,800+27,80 = 4,880บาท)

เมื่อเป็นรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานก็จะมีส่วนลดค่าภาษีดังนี้

อายุการใช้งานรถยนต์เกิน 6 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 10% เสียภาษี 4,880 – 488 = 4,392 บาท
อายุการใช้งานรถยนต์เกิน 7 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 20% เสียภาษี 4,880 – 976 = 3,904 บาท
อายุการใช้งานรถยนต์เกิน 8 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 30% เสียภาษี 4,880 – 1,464 = 3,416 บาท
อายุการใช้งานรถยนต์เกิน 9 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 40% เสียภาษี 4,880 – 1,952 = 2,928 บาท
อายุการใช้งานรถยนต์เกิน 10 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 50% เสียภาษี 4,880 – 2,440 = 2,440 บาท

  1. รถกระบะ 2 ประตู คือรถที่มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาวตัวหนังสือสีเขียว ประเภทรถบรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ (ตรวจสอบน้ำหนักรถยนต์ได้จากเล่มทะเบียนรถยนต์)โดยมีรายละเอียดดังนี้

น้ำหนักรถตั้งแต่ 501- 750 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 450 บาท
น้ำหนักรถตั้งแต่ 751-1,000 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 600 บาท
น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,001-1,250 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 750 บาท
น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,251-1,500 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 900 บาท
น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 1,050 บาท
น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,751-2,000 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 1,350 บาท
น้ำหนักรถตั้งแต่ 2,001-2,500 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 1,650 บาท

  1. รถตู้ คิอรถที่มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาวตัวหนังสือสีน้ำเงิน รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ โดยมีรายละเอียดดังนี้

น้ำหนักรถไม่เกิน 1,800 กิโลกรัม เสียภาษีจำนวน 1,300 บาท
น้ำหนักรถเกิน 1,800 กิโลกรัม เสียภาษี จำนวน 1,600 บาท

ภาษีรถยนต์เป็นเรื่องสำคัญที่คนที่มีรถทุกประเภท ต้องรู้ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในบทความนี้ได้นำรายละเอียดที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับภาษีรถยนต์มาให้ทราบกัน เพื่อนำไปเป็นแนวปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , ,