10 เคล็ดลับเก็บเงินเร็ว วัยเรียน วัยทำงาน ให้อยู่และงอกเงย

เคล็ดลับเก็บเงิน

มีคนเคยบอกว่า ‘เงิน’ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ มันก็อาจจะถูกนะคะ เพราะเงินไม่ได้สำคัญแต่มันคือสิ่ง ‘จำเป็น’ ค่ะ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้เงินจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่พอไม่มีเงินขึ้นมาก็ทำให้เราซื้ออะไรมาประทังชีวิตไม่ได้เลยสักอย่าง

แล้วเคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเงินมันช่างหายาก แต่กลับหนีเราไปง่ายเหลือเกิน วันนี้เรามีเคล็ดลับเก็บเงินเร็วดี ๆ เพื่อให้น้อง money อยู่กับเรานาน ๆ และสนุกสนานกับการเพิ่มพูน ใครชอบวิธีไหนก็ลองเอาไปใช้กันดูนะคะ

แบ่งเก็บก่อนใช้

สมัยก่อนผู้ใหญ่มักจะสอนเราว่าตังค์ที่เหลือใช้ให้เอาไปหยอดกระปุก แต่เดี๋ยวก่อน! ยุคสมัยนี้มีสิ่งล่อใจเยอะแยะมากมายทั้งขนม ไอติม ชานมไข่มุก เครื่องสำอาง และมือถือรุ่นใหม่ที่อยากได้ในขณะที่ของเก่าก็ยังผ่อนไม่หมด แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปเหลือเก็บ ขอแนะนำว่าเมื่อได้เงินมาก็เก็บก่อนเลยจ้า เพราะถ้าเงินอยู่ในมือเรามันต้องรีบบินหนีไปกับชานมไข่มุกแน่ ๆ ดังนั้นตัดเก็บก่อนเลย เอาแบบเท่า ๆ กันทุกเดือน จะหลักร้อยหลักพันมันก็เงินเหมือนกันนั่นแหละ ขอแค่ความสม่ำเสมอเป็นสำคัญ อย่างเช่นตั้งใจจะเก็บเงินให้ได้เดือนละ 500 บาท พอได้เงินเดือนก็หักเข้าบัญชีที่เราไม่มีบัตรเอทีเอ็ม (จะได้ไม่แอบใช้ไง) ทำแบบนี้ทุกเดือนเป็นประจำ ผ่านไปหลายเดือนก็ได้เยอะเหมือนกันนะ

แบ่งเงินเป็นส่วน ๆ

จัดสรรปันส่วนให้ดีว่าจะเอาเงินส่วนไหนไว้ใช้ทำอะไร แล้วเก็บเป็นส่วน ๆ เอาไว้ทุกเดือน ยกตัวอย่างเช่น

ค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายแน่ ๆ 20% เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าผ่อนมือถือ

ค่าใช้จ่ายประจำวัน 40% เช่น ค่ารถ ค่ากินในแต่ละวันนั่นเอง

ค่าใช้จ่ายสำรองฉุกเฉิน 10% เผื่อน้องหมาไม่สบาย หลังคาบ้านรั่ว รถเสีย เหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งหลายที่เราไม่คาดคิด

ใช้ในความบันเทิง 10% ไปเดินห้างซื้อของกับเพื่อน กินชานมไข่มุก (555)

เก็บเป็นเงินเย็นหรือกองทุน 10% เอาไว้ในที่ ๆ เราเอาออกมาไม่ได้ อาจเป็นบัญชีที่ไม่มีเอทีเอ็มหรือซื้อกองทุนที่เหมาะกับเรา (ต้องศึกษาให้ดีก่อนนะจ๊ะ เพราะการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง)

อันนี้เป็นแนวทางนะ การจัดสัดส่วนของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่ลองดูก็ไม่เสียหาย

10 เคล็ดลับเก็บเงินเร็ว วัยเรียน วัยทำงาน ให้อยู่และงอกเงย
ภาพบัตรเครดิต

รูดบัตรเครดิตไม่เกิน 30% ของเงินเดือนในแต่ละเดือน

ใครที่มีบัตรเครดิตใช้ก็ยั้งมือไว้ด้วย อย่ารูดเพลินเกินห้ามใจ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องหักดิบเลิกใช้นะ เพราะบัตรเครดิตมันไม่ได้ผิดอะไร มีประโยชน์ด้านส่วนลดและการสะสมแต้ม และยังไม่ต้องสัมผัสเงินสดโดยตรงช่วยลดการติดเชื้อโรค แถมยังทำให้เราหมุนเงินได้คล่องขึ้น เพราะสามารถผ่อนชำระสินค้าดอกเบี้ย 0% ได้อีก เห็นมั้ยว่าประโยชน์มันมีเยอะแยะ แต่ก่อนจะรูดปื๊ดไปลองถามใจตัวเองว่า ของนี้คือของที่จำเป็นหรือของที่อยากได้ คือถ้า ‘อยากได้’ จนกลายเป็น ‘จำเป็น’ ก็ซื้อเถอะ แต่ต้องแน่ใจด้วยว่าจะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้โดยไม่เดือดร้อน เท่านี้ชีวิตก็แฮปปี้แล้วเนอะ

หยอดกระปุกทุกวัน

วิธีแสนคลาสสิกที่ใช้กันมานมนานยังคงใช้ได้เสมอ เพียงสละเศษสตางค์สักนิดแล้วแต่วิธีการของแต่ละคน อาจจะกำนดวันละ 5 บาท หรือ 10 บาท (แต่ไม่ต้องถึงขั้น 1 บาทนะ มันน้อยไป) บางคนอาจจะเอาเศษเหรียญที่เหลือในแต่ละวันมาใส่กระปุกทั้งหมดเลยก็ได้ บางคนเก็บแบงค์ 20 หรือแบงค์ 50 สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็ได้ ลองดูนะจ๊ะ

ลงทุน

ไม่ใช่ให้ไปหาทำเลเช่าที่ขายของนะ เราหมายถึงลงทุนในเงินฝากประจำหรือกองทุน แต่อย่างหลังนี่ต้องศึกษาให้ดีเพราะกองทุนแต่ละกองก็มีความผันผวนและความเสี่ยงต่างกัน แต่ถ้าอยากอุ่นใจไม่ขาดทุนชัวร์ ๆ การซื้อสลากออมสินก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจนะ

พิจารณาการจับจ่ายใช้สอย

อย่าเห็นแก่ของถูกที่ซื้อมาได้ไม่นานเท่าไหร่ และใช้ไปไม่กี่ทีก็พัง มานับรวมแล้วซื้อใหม่ปีละหลายครั้ง ไม่สู้ซื้อของแพงแต่ใช้ได้นานจะคุ้มค่ากว่า และจัดวันที่เราจะซื้อของใช้จำเป็นไม่เกินเดือนละ 1-2 ครั้งก็พอ เพราะการซื้อทีละมาก ๆ คราวเดียวจะได้ส่วนลดมากกว่าการซื้อยิบย่อยแต่ซื้อบ่อย ๆ ดีไม่ดีเข้าห้างบ่อย ๆ จะเสียเงินกับเรื่องที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน เมื่อวานซื้อเสื้อ วันนี้ซื้อรองเท้า ถ้าเข้าห้างทุกวันรับรองกระเป๋าแบนแน่ ดังนั้นจัดวันซื้อของในวันเดียวจะดีกว่า และโปรดระวังกับดักการซื้อเพราะอยากได้ของแถม จะทำให้ได้ของที่เราไม่ต้องการมากองอยู่ในบ้านด้วยนะ ท่องเอาไว้…ซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น!

ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตบางอย่าง

ถ้าที่ทำงานไม่ไกลนักบางวันก็ลองเดินดูบ้างก็ได้ ใครที่อยู่หอก็เอาแป้งเย็นเข้าช่วยแล้วเปิดพัดลมแทนแอร์เป็นบางวัน ห่อข้าวไปเองบ้างอะไรบ้าง อาศัยกาแฟออฟฟิศบ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องงดกินข้าวตามร้านหรืองดกาแฟเย็นยี่ห้อโปรดไปซะทีเดียวหรอกนะ (แต่ถ้าทำได้ก็ดี) ก็แค่ลดลงจากดื่มกาแฟยี่ห้อหรูทุกวันเปลี่ยนเป็นยี่ห้อหรูสัปดาห์ละ1-2 แก้ว นอกนั้นดื่มกาแฟชงเองในที่ทำงานบ้าง หรือในร้านสะดวกซื้อบ้าง ลดการกินขนมหรือของหวานลงบ้าง เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย จะได้รวยด้วยสวยด้วยไงจ๊ะ

หางานเสริมทำ

ข้อนี้เห็นผลชัดเจน เพราะถ้าทำงานก็ต้องได้เงินแน่นอน ถ้าใครเป็นสายลุยอาจจะทำงานพาร์ทไทม์ตามร้านต่าง ๆ ทั่วไปตามแต่ใจชอบ ซึ่งเขาก็จะคิดเป็นรายชั่วโมงให้เรา แต่ถ้าใครไม่ถนัดแนวนั้นอาจจะใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมงในการทำงานเสริมอื่น ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นขายของออนไลน์ รับสอนพิเศษ รับงานเขียน ขายภาพถ่าย ไปจนกระทั่งเป็นยูทูปเบอร์ และอีกสารพัดตามที่เราถนัด อดทนเข้าไว้ยังไงก็ไม่อดตายแน่นอนจ้า

รักษาสุขภาพ

สงสัยใช่มั้ยว่า เอ๊ะ! มันเกี่ยวอะไรกัน ขอบอกเลยว่าข้อนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อเราป่วยแต่ละครั้งต้องเสียค่ายาและค่าหมอจนมึน (จนอาจจะทำให้ป่วยหนักกว่าเดิม 555) อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินแทบตาย แต่สุดท้ายยกให้หมอซะงั้น อย่างนี้มันไม่คุ้มเลยนะจ๊ะ วิธีรักษาสุขภาพเบื้องต้นก็คือกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละวัน นอนให้เต็มอิ่ม อย่ามัวแต่เล่นเกมหรือดูซีรีส์จนดึก เพราะนอกจากจะทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายเราแล้ว ยังเปลืองไฟอีกด้วย เราสามารถผ่อนคลายในเวลาที่เหมาะสมได้ หาเวลาไปแฮงค์เอาท์เพื่อนฝูงบ้างเดือนละ 1-2 ครั้ง จะได้ไม่เครียด หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องเข้าฟิตเนสหรอกนะ แค่หาเวลาเดินเล่นหรือเปิดยูทูปทำตามที่บ้าน ถ้านึกอะไรไม่ออกจริงก็ยืนแกว่งแขนระหว่างดูทีวีหรือฟังเพลงก็ได้ เห็นมั้ยว่าสุขภาพดีมีได้ทุกคนนะจ๊ะ

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

อาจฟังดูเชย แต่มันจำเป็นจริง ๆ เพื่อพิจารณาการจับจ่ายใช้สอยของเราเอง และประเมินความผิดพลาดในการใช้เงิน จะบอกว่ามันช่วยได้เยอะนะ เพราะมันจะฟ้องเลยว่าเงินเราหายไปกับอะไรมากที่สุด เราจะได้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในส่วนนั้นให้เหมาะสม  เดี๋ยวนี้มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยบันทึกการใช้จ่ายประจำวันของเรา พอจ่ายปุ๊บก็หยิบมือถือมาบันทึกปั๊บ เห็นมั้ยคะว่าง่ายจะตาย แถมเขายังช่วยทำสถิติให้เราด้วย ทำไปทำมาก็สนุกดีเหมือนกัน มีหลายแอพให้เลือก ลองไปดาวน์โหลดแบบที่เราชอบมาใช้กันดูได้เลยจ้า

คงจะพอได้ไอเดียในการเก็บเงินกันไปบ้างแล้ว จะว่าไปถ้าตั้งใจจริงก็ไม่ได้ยากเลยนะ เพราะเราคัดมาแล้วว่าเป็นวิธีเก็บตังค์ที่ต้องมีความสุขไปด้วย ไม่ต้องรอให้รวยก็มีความสุขได้ แต่ถ้าสุขด้วยรวยด้วยก็จะยิ่งดีใช่มั้ยคะ

dragonflydays

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , ,