ครอบครัว หมายถึง? | วิธีสร้างครอบครัวที่อบอุ่น คำคมครอบครัว

ครอบครัวอบอุ่น

ความหมายของคำว่าครอบครัว

คำว่า ครอบครัว หากให้ความหมายตามลักษณะทางพันธุศาสตร์ จะระบุเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดเป็นหลัก

แต่หากกล่าวกันในทางสังคมแล้ว ครอบครัว ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีสายเลือดเดียวกันเท่านั้น

ในความเข้าใจโดยรวมของสังคมปัจจุบัน คำว่า ครอบครัว ยังหมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชายคาเดียวกัน อาจมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีปฏิสัมพันธ์กัน มีความห่วงใย ใส่ใจ ดูแลกัน เอื้ออาทรและปรารถนาดีต่อกัน แม้บางคราวอาจจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่เมื่อสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งต้องห่างไกลไป ก็ยังมีความห่วงใยอาทร และมีความอบอุ่นคุ้นเคยทุกครั้งที่พบเจอ อีกทั้งยังทำให้รู้สึกว่าต่างก็เป็นที่พึ่งพาอาศัยและให้คำปรึกษากันได้ อย่างนี้ก็นับว่าเป็นครอบครัวได้เช่นกัน

ครอบครัวอบอุ่น
รูป ครอบครัวอบอุ่น

รูปแบบที่หลากหลายของการเป็นครอบครัวในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนเรามักจะแยกประเภทของครอบครัวได้สองแบบคือ

ครอบครัวเดี่ยว

คือครอบครัวที่มีสามีภรรยาและลูกอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งการสร้างครอบครัวเดี่ยวก็หมายถึงสามีภรรยาแต่งงาน

แล้วแยกจากบุพการีของแต่ละฝ่ายออกมาสร้างครอบครัวของตนเอง

ครอบครัวขยาย

ส่วนมากมักจะเกิดจากการที่สามีหรือภรรยาอาศัยอยู่กับบุพการีของตนอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้แต่งงานจึงพาคู่สมรสของเข้ามาอยู่ด้วย ครอบครัวแบบนี้จึงมีความสัมพันธ์ทั้งปู่ย่าตายายและพ่อแม่ลูกรวมกัน

แต่ปัจจุบันรูปแบบครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสภาพสังคม ทำให้เราพบเห็นการสร้างครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปได้อีกดังนี้

ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ชายเท่าสมัยก่อน การหย่าร้างหรือแยกทางจึงเพิ่มขึ้น คู่รักบางคู่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาแล้วให้กำเนิดบุตรโดยที่ไม่ได้แต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อมีปัญหาชีวิตคู่ก็อาจเลิกรากันไปโดยทิ้งลูกให้อีกฝ่ายดูแล หรือปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรก็อาจทำให้เกิดกรณีพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวได้เช่นกัน

ครอบครัวขยายข้ามรุ่น

หมายถึงการอยู่ร่วมกันแบบข้ามรุ่น มักจะเกิดจากคู่สามีภรรยาอาจมีเหตุทำให้ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ จึงให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ครอบครัวลักษณะนี้จึงเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ข้ามรุ่นก็คือปู่ย่าตายายกับหลานนั่นเอง

ครอบครัวที่เป็นญาติกัน

อาจจะมีสาเหตุคล้ายกับครอบครัวข้ามรุ่น แต่กรณีนี้เป็นลุงป้าน้าอาดูแลหลาน

ครอบครัวที่เป็นคู่รักร่วมเพศ

สังคมยุคนี้ยอมรับคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันมากขึ้น การแต่งงานอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลัก แต่คือการอยู่เคียงข้างกัน และดูแลซึ่งกันและกัน ดังนั้นการใช้ชีวิตคู่ของหนุ่มสาวรักร่วมเพศจึงนับเป็นการสร้างครอบครัวอย่างหนึ่ง

ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ

อาจเป็นการไปขอเด็กที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดกับตนมาเลี้ยง หรืออาจเป็นครอบครัวในลักษณะที่ทุกคนมีความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนมาใช้ชีวิตร่วมกันและดูแลกันก็ได้

ครอบครัว ความสำคัญของครอบครัว 2
รูป ครอบครัวอบอุ่น

ความสำคัญของครัว

เป็นแหล่งช่วยเหลือเยียวยาเมื่อสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือประสบปัญหาวิกฤติในชีวิตด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ คนในครอบครัวจะคอยอยู่เคียงข้างและดูแลให้กำลังใจเพื่อให้สมาชิกได้ผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายนั้นไปได้ด้วยดี

หากเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกเกิดใหม่หรือมีการรับเด็กมาเลี้ยง ครอบครัวจะมีหน้าที่อบรม เลี้ยงดู ให้ความรักความเมตตาแก่เด็ก รวมถึงจัดการหาสถานศึกษาให้พร้อม แต่ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือครอบครัวจะเป็นผู้วางรากฐานทางทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้กับเด็กก่อนที่เด็กจะได้เข้าโรงเรียนเสียอีก ครอบครัวจึงถือเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่สุดซึ่งมีผลต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้รวมถึงการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็ต้องอาศัยสถาบันครอบครัวเช่นเดียวกัน เนื่องจากครอบครัวเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ต้องใช้การอุปโภค บริโภค รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งนอกจากครอบครัวจะเป็นผู้บริโภคแล้วยังเป็นผู้ผลิตทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นปลูกฝังค่านิยมในการบริโภคต้องเกิดขึ้นในครอบครัวเป็นอันดับแรก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงต้องอาศัยครอบครัวเป็นส่วนสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

ครอบครัวอบอุ่น
รูป ครอบครัวอบอุ่น

บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในครอบครัว

ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เพราะนิสัยและทัศนคติต่าง ๆ นั้นไม่สามารถสอนได้ด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกมาจากการกระทำ หรืออาจกล่าวได้ว่าการทำให้เห็นสามารถสอนคนได้ดีกว่าคำพูดเสียอีก

แบบอย่างที่ผู้ใหญ่ควรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เด็กได้ซึมซับเข้าไปนั้นควรจะสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของสังคม ทั้งนี้เพื่อการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเผชิญกับโลกภายนอกได้อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมในสังคมส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนเด็กก็มีหน้าที่เคารพผู้ใหญ่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อพัฒนาตนเองและต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริต ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่เป็นภาระสังคม และหาโอกาสทำความดีแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เช่น ช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยเก็บขยะในที่สาธารณะ

แม้ว่าในปัจจุบันครอบครัวจะมีหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม บทบาทที่สำคัญของสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็คือเคารพซึ่งกันและกัน

ในที่นี้หมายความว่า ให้รับฟังกันโดยไม่ถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า เด็กก็ไม่ควรถือตนว่ามีความรู้มากกว่าผู้ใหญ่ หรือคู่สามีภรรยาที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ต่างกันก็ควรเปิดใจรับความแตกต่างของอีกฝ่าย ไม่ดูถูกดูแคลนกัน

และที่ขาดไม่ได้ในครอบครัวก็คือ การดูแลใส่ใจ ให้ความรักความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนควรมีให้แก่กัน

ครอบครัว ประการ วิธีสร้างครอบครัวที่อบอุ่น
รูป ครอบครัวอบอุ่น

10 ประการในการทำให้ครอบครัวอบอุ่น

  1. การสื่อสารเชิงบวก

คำพูดเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบรรยากาศในครอบครัว แต่หลายคนไม่สามารถใช้คำพูดสื่อสารออกไปอย่างถูกต้องได้ เมื่อต้องการอะไรแทนที่จะพูดตรง ๆ บางคนใช้วิธีตัดพ้อหรือประชดประชัน บางคราวมีความหวังดีให้อีกฝ่ายแต่กลับใช้คำพูดไม่เป็น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ควรเน้นใช้คำพูดที่สื่อความหมายถึงความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่ออีกฝ่ายก็จะทำให้การสื่อสารในครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. มีเวลาให้กัน

เลือกกิจกรรรมที่ทุกคนสามารถทำได้ แม้ว่าสมาชิกแต่ละคนอาจจะมีความชอบไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยการรับประทานอาหารร่วมกันในวันเทศกาลต่าง ๆ ก็สามารถกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้แล้ว จึงควรหาเวลาพบปะพูดคุยพร้อมหน้ากันอย่างสม่ำเสมอ

  1. ลดอัตตาของตนเองลง

อาจจะฟังดูขัดแย้งกับสมัยก่อนอยู่บ้างหากจะต้องบอกว่า สมัยนี้ต้องใช้หลักการ

‘พ่อแม่ต้องฟังลูกบ้าง’
‘เป็นผู้ใหญ่อย่าเถียงเด็ก’

แต่ในปัจจุบันนี้ต้องใช้หลักการนี้จริง ๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อฟังอีกฝ่าย แต่ทุกคนต้องรับฟังกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ตัดสินกัน และไม่ใช้อำนาจบังคับให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับตน

  1. เป็นกำลังใจให้กัน

เมื่อเกิดการผิดพลาด อย่าใช้คำพูดในทำนองว่า ‘บอกแล้วไม่เชื่อ’ เพราะหากพูดแบบนี้แล้ว ต่อไปภายหน้าอีกฝ่ายจะไม่ยอมหันหน้าเข้าหาครอบครัวอีก เพราะกลัวว่าหากมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นอีกจะถูกซ้ำเติมและต่อว่า สุดท้ายจะเอาปัญหาไปเล่าให้คนนอกฟัง การที่สมาชิกในครอบครัวเห็นคนนอกสำคัญกว่า เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสถาบันครอบครัวกำลังตกอยู่ในสภาพไม่แข็งแรงนั่นเอง

ท่านอาจารย์นายแพทย์พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ เคยแสดงทัศนคติเชิงบวกเอาไว้ว่า

‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ ความจริงแล้วหมายถึง
รักวัวให้ผูก คือ ผูกสัมพันธ์
รักลูกให้ตี คือ ตีสนิทกับลูกนั่นเอง

  1. ให้มีระยะห่างที่พอดี

การห่างกันเกินไป ไม่สนใจห่วงใยกัน ทำให้เกิดความห่างเหินทางอารมณ์ เย็นชา ไม่เอื้ออาทรกันแต่แน่นแฟ้นเกินไปก็ใช่ว่าจะดี คอยติดตามทุกฝีก้าวจนไม่มีความเป็นส่วนตัว

พ่อแม่ที่นอนกับลูกจนโตจะเกิดการควบคุมลูกโดยอัตโนมัติ ทำให้ลูกไม่เป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจเองไม่เป็น ไม่สามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ หรืออาจนำไปสู่ความขัดแย้งเมื่อวันหนึ่งลูกต้องการตัดสินใจในเรื่องที่พ่อแม่ไม่ชอบ

  1. สร้างความสมดุลในครอบครัว

ไม่ควรให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำไปเสียทุกเรื่อง ควรแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้นำด้านใด เช่น พ่อเป็นคนจัดการเรื่องนอกบ้าน หาที่เรียนให้ลูก แม่เป็นผู้นำในงานบ้าน สามารถตัดสินใจเรื่องอาหารการกินได้ ส่วนลูกอาจจะเป็นผู้นำในการเสนอกิจกรรมของครอบครัว เป็นต้น

การเป็นครอบครัวนั้นไม่ควรให้ใครอยู่เหนือใคร เพราะอาจสร้างความกดดันให้กับสมาชิกที่รู้สึกว่าตนเองอยู่ภายใต้บังคับบัญชาได้ การจับมือเดินไปด้วยกันจึงจะทำให้ครอบครัวสมดุลและมั่นคงในระยะยาว

  1. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อย่าพยายามแบ่งพวกกันเองในครอบครัว เช่น พ่อทะเลาะกับแม่แล้วพยายามดึงลูกมาเป็นพวก ควรตระหนักเสมอว่าครอบครัวคืออันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มี ‘ฉัน’ ไม่มี ‘เธอ’ มีแต่ ‘เรา’ หากใครคนใดคนหนึ่งไม่มีความสุข ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัว

  1. อยู่เคียงข้างกัน

พ่อแม่อาจไม่ชอบเพื่อนบางคนของลูก จึงพยายามกีดกันหรือตำหนิเพื่อนคนนั้นให้ลูกฟัง ซึ่งหากลูกกำลังอยู่ในวัยที่ติดเพื่อน ลูกอาจรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนจนทำให้ลูกไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีก เป็นจุดเริ่มต้นของความห่างเหิน

ความรัก ความหวังดี ไม่ใช่เกิดจากการที่เราใช้มุมมองของเราไปตัดสินผู้อื่น แต่ควรจะมาจากการที่ลองไปมองในมุมเดียวกับอีกฝ่ายจึงจะมองเห็นและสัมผัสความรู้สึกกันได้ ทำให้การเชื่อมสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น ไม่ก่อให้เกิดช่องหว่างมากเกินไป

  1. ให้อภัย

แม้แต่ตัวเราเองก็ยังเคยผิดพลาด การให้อภัยจึงสำคัญต่อครอบครัวมาก ไม่ควรเก็บเอาข้อผิดพลาดกลับมาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะจะทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ส่งผลให้ครอบครัวมีรอยร้าว ซึ่งหากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ก็สามารถนำไปสู่การแตกหักได้

  1. อย่าเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น

ไม่มีใครชอบการถูกเปรียบเทียบ ควรทำความเข้าใจว่าเราทุกคนไม่เหมือนกัน ทุกคนมีข้อดีและศักยภาพเฉพาะตัว หากต้องการให้สมาชิกในครอบครัวปรับปรุงเรื่องใด ควรหาโอกาสชื่นชมความดีของอีกฝ่ายบ่อย ๆ แม้จะเป็นความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช่วยหยิบของ หรือขับรถให้ คำชมจะสามารถโน้มน้าวให้อีกฝ่ายค่อย ๆ เปิดใจรับฟังเรื่องที่เราต้องการให้แก้ไขได้

ครอบครัวอบอุ่น
รูป ครอบครัวอบอุ่น

เคล็ดลับเมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว

เมื่อเกิดปัญหาควรแก้ไขทันที อย่าพยายามกลบเกลื่อนปัญหาด้วยการตัดบท ตัดพ้อ ประชดประชัน หากกำลังอารมณ์ร้อนก็ควรอดทนให้ผ่านไปก่อน เมื่ออารมณ์เย็นแล้วจึงหันหน้ามาคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าแกล้งปล่อยผ่านอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำเดิม

หากเกิดปัญหาซ้ำเดิมบ่อย ๆ จะสะสมจนกลายเป็นความเย็นชาต่อกัน ทำให้ไม่อยากมองหน้าไม่อยากสื่อสารกัน รู้สึกว่าอีกฝ่ายทำอะไรก็ผิดไปหมด พูดอะไรก็ไม่เข้าหู จนหาสาเหตุไม่ได้ว่าเพราะอะไรจึงกลายเป็นแบบนี้ เนื่องจากปล่อยให้ปัญหาเล็ก ๆ สะสมมายาวนานจนไม่รู้ว่าความรู้สึกได้เริ่มถูกกัดกร่อนไปทีละน้อยตั้งแต่ตอนไหน มารู้ตัวอีกทีก็หมดใจกันไปแล้ว ในบางรายอาจสะสมจนเกิดการระเบิดครั้งใหญ่เป็นความแตกหักเสียหายได้เลยทีเดียว

ครอบครัวอบอุ่น
รูป ครอบครัวอบอุ่น

ความอบอุ่นของครอบครัว ไม่ได้ขึ้นกับจำนวนคนที่อยู่ แต่คือความเข้าใจที่มี

  • ‘ความรัก’ คือสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว แต่ ‘ความเข้าใจ’ นั้นสำคัญกว่า อาจกล่าวได้ว่า ‘รักน้อย ๆ แต่เข้าใจให้มาก’ ยังดีกว่า ‘รักมาก ๆ แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย’
  • เพราะความรักนั้นหากมีมากเกินไปจะกลายเป็น ‘ความหลง’ 
  • สามีรักภรรยามาเกินไปก็อาจหมดตัวได้หากภรรยาเป็นคนชอบขอ
  • ภรรยารักสามีมากเกินไปอาจถึงขั้นยอมให้เขาทำร้ายร่างกาย
  • พ่อแม่รักลูกมากเกินไปก็ประคบประหงมลูกราวกับไข่ในหินจนลูกไม่เป็นตัวของตัวเอง
  • ปู่ย่าตายายรักหลานมากเกินไปก็อาจตามใจจนเสียคน

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดจากการขาดความเข้าใจในการใช้ชีวิตครอบครัว เพราะหากใช้ความเข้าใจและหวังดีอย่างจริงใจแล้วย่อมจะไม่ทำให้อีกฝ่ายต้องกลายเป็นบุคคลที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี

การสร้างทัศคติที่ถูกต้องถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญที่ครอบครัวพึงตะหนัก เพราะสถาบันครอบครัวเป็นด่านแรกที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ การใช้ความเข้าใจจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาครอบครัวให้ดำเนินไปได้ด้วยความผาสุก และช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องต่อไป

Dragonflydays

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , ,