23 เมนูอาหารเด็ก ลูกน้อย วัยก่อนเรียน 1 ขวบขึ้นไป

เมนูอาหารเด็ก

การรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจเรื่องเมนูอาหารสำหรับลูกน้อยวัยนี้เป็นพิเศษนะคะ เพราะหากพลาดจุดนี้ไปอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของเด็กได้ตลอดชีวิตเลยล่ะค่ะ

ทำไมต้องใส่ใจอาหารของเด็กก่อนวัยเรียน

เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่มีการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ การดูแลเรื่องอาหารการกินมีผลต่อเด็กในหลาย ๆ ด้านมากกว่าที่เราคิดนะคะ หากการรับประทานอาหารของเด็กในวัยนี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสมอาจเกิดผลกระทบต่อเด็กได้ดังนี้ค่ะ

เจ็บป่วยง่าย

การเจ็บป่วยง่ายอาจส่งผลไปตลอดชีวิต เนื่องจากสารอาหารบางชนิดสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หากรับประทานอาหารไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ ก็จะทำให้ขาดภูมิคุ้มกัน บางคนเจ็บป่วยง่าย เป็นภูมิแพ้ไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถบรรเทาหรือในบางคนที่ดูแลร่างกายดี ๆ ก็อาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วยเลยก็ได้ค่ะ

ร่างกายแคระแกรน

การรับประทานอาหารไม่เหมาะสมกับวัย มีผลทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เช่น ให้เด็กดื่มน้ำอัดลมหรือทานของหวานมากเกินไป แต่ไม่เน้นกินโปรตีน นอกจากจะทำให้ฟันผุแล้ว จะขาดโปรตีนที่จะนำไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อการเติบโตด้วย

ขาดการบำรุงสมอง

การรับประทานอาหารนั้นมีส่วนช่วยในการบำรุงสมองอย่างมาก ถ้ายิ่งได้สารอาหารบำรุงสมองในช่วงนี้แล้ว จะทำให้การพัฒนาของเซลล์สมองมีประสิทธิภาพระยะยาว จึงควรใช้ช่วงเวลานี้ในการให้เด็กรับสารอาหารที่จำเป็นต่อสมองค่ะ

สร้างนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารของเด็กวัยนี้ ปล่อยให้เด็กกินตามใจชอบ เด็กอาจเลือกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น กินแต่ของหวานจนติดนิสัยและอ้วนตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็ลดความอ้วนยาก หรือบางคนกลายเป็นคนเลือกกิน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้หลากหลายจนเกิดปัญหาการเข้าสังคม

นิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ดีอีกอย่างก็คือการับประทานไม่เป็นเวลาและชอบกินจุบกินจิบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สาสามารถสร้างนิสัยดี ๆ ในการกินให้กับลูกน้อยได้ตั้งแต่วัยนี้เลยค่ะ

การจูงใจให้เด็กรับประทานอาหาร

นอกจากเรื่องเมนูอาหารที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสรรหามาให้อร่อยและมีประโยชน์แล้ว เรายังมีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ทุกมื้อเป็นการรับประทานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดดังนี้ค่ะ

จัดการกินให้เป็นเวลา

เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย ซึ่งอาจรับประทานพร้อมกับผู้ใหญ่ก็ได้เพื่อปลูกฝังนิสัยการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และหากเด็กโตพอก็อาจหัดให้รับประทานอาหารบางอย่างแบบเดียวกับผู้ใหญ่ได้ค่ะ

สร้างบรรยากาศที่ดี

หากครอบครัวรับประทานอาหารร่วมกัน บนโต๊ะอาหารควรมีความสนุกสนานเฮฮา เรื่องไม่ดีอย่าเพิ่งเอามาพูดกันนะคะ แม้ว่าเด็กจะฟังไม่เข้าใจ แต่เขาจะสัมผัสบรรยากาศและซึมซับเข้าไปได้ค่ะ

เปลี่ยนเมนูบ้าง

อย่าให้เด็กรับประทานเมนูเดิม ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดี เด็กบางคนอาจเบื่อจนพาลไม่รับประทานอาหาร แต่เด็กบางคนอาจเคยชินกับอาหารชนิดเดียวจนไม่ยอมรับประทานอย่างอื่น จึงควรเปลี่ยนเมนูให้หลากหลายนะคะ

สำหรับบางเมนูต้องประยุกต์บ้าง อย่างเมนูผักที่เด็กหลายคนไม่ชอบกิน คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีหั่นผักเป็นชิ้นเล็กผสมลงไปในอาหาร เช่น ไข่เจียวหัวหอม หรือหมูสับแครอท ไม่อย่างนั้นก็อาจทำเป็นผักทอดปรุงรสให้อร่อยก็ได้ เพื่อให้เด็กหัดกินผักค่ะ

อาหารที่เน้นให้เด็กกิน

เด็กกับผู้ใหญ่จะเน้นรับประทานอาหารคนละอย่าง แน่นอนว่าต้องรับประทานให้ครบห้าหมู่ แต่เด็กไม่ต้องรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำจนเกินไป เพราะวัยนี้จะสามารถนำไปใช้ได้หมด สำหรับสารอาหารที่ควรเน้นและขาดไม่ได้เลยมีดังนี้ค่ะ

  • โปรตีน  สามารถทานไข่ได้วันละฟองและนมไขมันเต็มวันละ 1 แก้ว โดยรับประทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิดค่ะ
  • อาหารทะเล มีโอเมกา 3 ช่วยบำรุงสมอง เด็กวัยนี้สามารถรับประทานอาหารทะเลได้ทุกชนิดค่ะ
  • ผักทุกชนิด หากไม่ฝึกให้เด็กรับประทานผักในตอนนี้ เมื่อโตขึ้นอาจจะกลายเป็นคนกินยาก กินผักไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวค่ะ
  • ถั่วต่าง ๆ หากเป็นเด็กเล็กที่ยังเคี้ยวได้ไม่ดี อาจเป็นถั่วบดก็ได้ การกินถั่วนอกจากจะให้โปรตีนแล้วยังมีโอเมกา 3 ด้วยค่ะ

ส่งเสริมให้เด็กวิ่งเล่นออกกำลังกาย

หากเด็กอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ใช้พลังงาน ก็จะทำให้ไม่หิวและรับประทานได้น้อย จึงควรส่งเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกาย และหากคุณพ่อคุณแม่มีส่วนร่วมด้วยก็จะดีมาก แต่ก็ต้องระวังเรื่องเพราะบางทีเด็กการทำกิจกรรมเพลินจนลืมหิวก็มีนะคะ

ตักอาหารให้เด็กทีละน้อย

ให้เด็กรับประทานหมดชามแล้วชมเชยก่อนจะถามว่าต้องการเพิ่มอีกไหม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีเมื่อรับประทานหมดค่ะ

รับประทานของว่างเป็นเวลา

เด็กวัยนี้กินขนมได้ แต่ต้องเลือกอย่าให้กินน้ำตาลเยอะเกินไป และก่อนกินอาหารมื้อหลัก 1 ชั่วโมงก็ให้งดขนม เพื่อให้เขาได้รับประทานอาหารหลักอย่างเต็มที่ค่ะ

ให้เด็กตักอาหารกินเองบ้าง

ปล่อยให้เด็กได้จับช้อนกินเอง อาจหกบ้างก็ไม่เป็นไร คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ สอนไป และชมเชยเมื่อเด็กตักอาหารเข้าปากได้เอง เด็กจะมีกำลังใจในการกินมากขึ้นค่ะ

จำกัดเวลากิน

การรับประทานอาหารควรอยู่ราว ๆ 30-45 นาที เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตักอาหารให้ลูกทานเองหรือป้อนให้ก็ตาม เมื่อครบกำหนดเวลาก็เก็บชามข้าวได้เลย ไม่ว่าลูกจะกินหมดหรือไม่ก็ตาม เป็นการฝึกให้เด็กรู้ว่าถ้าไม่กินภายในเวลาก็จะไม่ได้กินแล้ว บางทีเด็กอาจจะอิ่มแล้วจริง ๆ ก็ได้ จึงไม่จำเป็นต้องกดดันให้กินจนหมดเสมอไปค่ะ

หัดให้กินของแปลกใหม่

เพื่อการรับประทานที่หลากหลายควรให้เด็กได้กินของแปลกใหม่ โดยอาจจะเพิ่มเข้าไปในอาหารเล็กน้อย สังเกตดูว่าเด็กชอบหรือไม่ หากไม่ชอบให้ลองนำอาหารชนิดนั้นไปปรุงเป็นอย่างอื่นดูจนกว่าเด็กจะยอมกิน แต่ไม่ควรใช้วิธีบังคับอย่างเด็ดขาดค่ะ

ให้ลูกมีส่วนร่วมในการทำอาหาร

ถ้าสามารถจัดวันทำอาหารร่วมกันได้จะดีมาก อาหารที่ตกแต่งสวยงามจะดึงดูดให้เด็กอยากกิน และถ้าเขารู้สึกว่าเป็นฝีมือของเขาเองด้วยก็ยิ่งน่าสนใจค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกช่วยหยิบจับอาหาร ปั้นเอง ราดเองก็ถือว่ามีส่วนร่วมแล้ว อย่าลืมชมลูกด้วยนะคะ ในกรณีที่เด็กยังเล็กเกินไปยังช่วยทำอาหารไม่ได้ ก็สามารถให้เขายืนดูขั้นตอนการทำก็ได้ค่ะ

สิ่งที่ไม่ควรทำ

คุณพ่อคุณแม่หลายคนพลาดในการหลอกล่อให้ลูกรับประทานอาหาร ซึ่งผลที่ได้ก็จะกลายเป็นตรงกันข้ามนะคะ เรามาดูกันว่าวิธีการแบบไหนที่ไม่ควรใช้กับเด็กค่ะ

บังคับให้กิน

ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เด็กกินอาหารที่ไม่ชอบ หรือการยัดเยียดให้เด็กกินเยอะ ๆ ก็ล้วนแต่เป็นวิธีที่สร้างความรู้สึกไม่ดีต่อเด็กทั้งสิ้น ครั้งต่อไปเด็กจะไม่อยากรับประทานอาหารแล้ว อาจงอแงได้นะคะ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าลูกของคุณอาจจะไม่ได้กินเยอะทุกมื้อ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องบังคับเสมอไป นอกเสียจากว่ากินน้อยเกินไปทุกมื้อจึงค่อยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือหาอาหารเสริมมาทดแทนค่ะ

ตกแต่งอาหารมากเกินไป

เราอาจจะเห็นเมนูอาหารเด็กหลายอย่างตกแต่งสวยงามเป็นรูปตัวการ์ตูน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประยุกต์ทำเองได้ในบางครั้ง แต่ก็ไม่ควรทำแบบนี้ทุกมื้อ เพราะจะทำให้เด็กติดนิสัย กลายเป็นว่าถ้าเห็นอาหารไม่สวยแล้วจะไม่กิน แนะนำว่าควรทำอาหารให้หลากหลายดีกว่าค่ะ

เบี่ยงเบนความสนใจ

เมื่อถึงมื้ออาหารก็ควรรับประทานอาหารเท่านั้น ไม่ควรให้เด็กเล่นไปกินไป หรือเปิดการ์ตูนให้เด็กดูระหว่างกิน เพราะจะทำให้เด็กไม่สนใจกิน และอาจเคี้ยวไม่ละเอียดหรือกินได้ไม่เยอะเพราะห่วงเล่นค่ะ

ความเข้าใจผิดเรื่องโภชนาการของเด็ก

นอกจากเรื่องการรับประทานให้ถูกวิธีแล้ว ยังมีเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจผิดจนนำไปสู่การสร้างนิสัยการกินแบบผิด ๆ ให้เด็กได้เช่นกันค่ะ

เข้าใจว่าเด็กอ้วนจ้ำม่ำจึงจะดี

เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเด็กไม่ใช่หมู ไม่จำเป็นต้องขุนให้อ้วนนะคะ จริงอยู่ที่ความจ้ำม่ำอาจจะดูน่ารัก แต่เด็กยิ่งอ้วนยิ่งทำให้เกิดโรคได้ง่าย และเมื่อถูกยัดเยียดให้กินเยอะจนกลายเป็นนิสัยติดไปถึงตอนโตก็จะลดความอ้วนยากแล้วล่ะค่ะ

คุณพ่อคุณแม่กังวลมากเกินไป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเด็กอาจจะไม่ได้กินเยอะทุกมื้อ ซึ่งก็แล้วแต่กิจกรรมในวันนั้นด้วย หากเด็กนั่งเล่นอยู่กับที่ก็อาจจะไม่หิวมาก การพิจารณาว่าเด็กผอมเกินไปหรือไม่ ควรใช้น้ำหนักกับส่วนสูงเป็นเกณฑ์จะดีกว่าใช้การมองด้วยตาเปล่านะคะ หากน้ำหนักยังอยู่ในเกณฑ์ปกติตามอายุ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไป เพราะจะกลายเป็นความกดดันทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และเด็กเองด้วยค่ะ

ใช้สิ่งล่อใจมาเป็นเงื่อนไข

เช่น ถ้าลูกยอมกินข้าว พ่อแม่ก็จะพาไปเที่ยว หากสร้างเงื่อนไขแบบนี้จะทำให้เด็กเกิดความเคยชินและร้องขอต่อรองทุกครั้ง จนสุดท้ายงานยากจะตกที่คุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ

ไม่เข้าใจสภาพร่างกายของลูก

การที่เด็กไม่รับประทานอาหารนั้นอาจมีปัญหาทางร่างกายจริง ๆ เช่น การเจ็บป่วยหรือเด็กบางคนมีอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อยเมื่อรับประทานอาหารบางชนิด ที่พบบ่อยก็คือการแพ้นมวัว อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยว่าลูกมีปัญหาสุขภาพหรือไม่ควรพาไปพบแพทย์นะคะ อย่าเพิ่งทึกทักเอาเองจนเครียดกันไปค่ะ

ไอเดียเมนูเด็กก่อนวัยเรียน

การรับประทานอาหารสำหรับลูกน้อยเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ เมนูที่เราแนะนำมา นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้รับประทานอาหารร่วมกันอย่างมีความสุข ให้โภชนาการของลูกเป็นมากกว่าการรับประทานอาหาร ด้วยการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่เติบโตอย่างมีคุณภาพไปพร้อม ๆ กันนะคะ

                                                                                                                        dragonflydays

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: ,