ฝุ่น PM2.5 คือ? | เกิดจากไหน ผลกระทบ การป้องกัน

ฝุ่น pm 2.5

ในยุคสมัยนี้คงไม่มีใครไม่คุ้นหูกับคำว่า PM2.5 ที่เป็นค่าฝุ่นควันพิษร้ายทำลายร่างกายมนุษย์ หากวันไหนที่มีควันสีขาวๆปกคลุมอยู่ทั่วพื้นที่โดยที่อากาศก็ไม่ได้หนาวสักนิด นั่นไม่ใช่หมอกนะแต่เป็นฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อสังเกตเห็นอย่างนี้แล้วรีบปิดประตูหน้าต่างให้ไว้เลยแล้วอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ถ้าไม่เช่นนั้นคุณอาจตกเป็นเหยื่อของเจ้า ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่คอยจ้องจะเข้าไปสู่ร่างกายของในทุกเมื่อ หากคุณไม่ระวังตนเอง วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ PM2.5 ให้ดียิ่งขึ้น ตามไปดูกันเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

PM2.5 คืออะไร ?

ฝุ่น PM 2.5 คือ
รูป PM2.5

PM (Particulate Matters) คือค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองที่ขนาดเล็กมากที่สามารถทำอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ซึ่ง ค่า PM นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ PM10 และ PM2.5 มีหน่วยเป็นไมโครเมตร ซึ่งฝุ่น PM2.5 นี้มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ล่องลอยอยู่ในอากาศแล้วรวมตัวกับไอน้ำ ก๊าซควันต่างๆ ทำให้เกิดเป็นหมอกควันจำนวนมากในอากาศ ฝุ่น PM2.5 นี้ขนาดเล็กมากเล็กเกินกว่าที่เส้นขนในจมูกจะกรองได้จนสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปสู่ ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด เข้าสู่ปอดซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมามากมาย ตัวฝุ่น PM2.5 นี้ยังนำพาสารที่เป็นอันตรายอื่นเข้าสู่ร่างกายอีกหลายอย่างเช่น แคดเมียม โลหะหนัก ปรอท เป็นต้น จะทำมนุษย์เป็นโรคต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรคปอด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง

ตรวจสอบ PM2.5 คุณภาพอากาศรอบตัวคุณได้ที่นี่ air4thai.pcd.go.th/webV2

ดัชนีคุณภาพอากาศประเทศไทย

เมื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศรอบตัวคุณแล้ว หากคุณสงสัยว่าอากาศแบบไหน เมื่อไหร่คุณภาพอากาศเริ่มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา ประเทศไทยเรานั้นมีการแบ่งดัชนีคุณภาพอากาศเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีเป็นตัวเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพดังนี้

AQI PM2.5(มคก./ลบ.ม.) สีที่ใช้ อธิบายคุณภาพอากาศ
0 – 25 0 – 25 ฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก
เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว
26 – 50 26 – 37 เขียว คุณภาพอากาศดี
สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
51 – 100 38 – 50 เหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง
สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน
101 – 200 51 – 90 ส้ม คุณภาพอากาศ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน หรือใช้อุปกรณ์ป้องกัน ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ แล้วมีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์
201 ขึ้นไป 91 ขึ้นไป แดง คุณภาพอากาศ มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกอย่างหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

PM2.5 เกิดมาได้อย่างไร ?

ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากไหน
รูป PM2.5
  • การเผาในที่โล่ง

ประเทศไทยพบว่าการเผาในโล่งทำให้เกิดค่า PM2.5 มากที่สุด (ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย) เช่นการเผาป่า เผานา เผาไร่ มากที่สุดก็จะเป็นจังหวัดในภาคเหนือเช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก แพร่ น่าน เป็นต้น

  • อุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันออกมาเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวเนื่องจากในการผลิตแทบทุกอย่าง ต้องใช้กระบวนการเผาไหม้ซึ่งจะทำให้เกิดควันเสียออกมาเป็นจำนวนมาก

  • การขนส่ง

ปัจจุบันแทบทุกครัวเรือนจะมีการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครจะเกิด ฝุ่นควัน PM2.5 มากกว่าจังหวัดอื่นเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นการจราจรติดขัดรถทุกคันพากันปล่อยควันออกมา แค่คิดก็อึดอัดแล้วหายใจไม่ออกแล้ว

  • ที่พักอาศัย

ฝุ่นควันที่เกิดจากที่พักอาศัยนั้นนับว่าเป็นปัจจัยส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเผาขยะเล็กๆน้อยในบ้าน รวมถึงการประกอบอาหารที่ใช้เตาถ่านในการก่อเพื่อประกอบอาหาร มีอีกสถานที่หนึ่งที่มีการปล่อยควันมากกว่าที่อยู่อาศัยและกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันนั่นก็คือร้านหมูกระทะที่เปิดขายกันมากมายหลายร้านต่างพากันปล่อยควัน ปิ้งย่างออกมารวมๆกันแล้วก็ไม่น้อยเลยทีเดียว

  • การรวมกันของก๊าซอื่นในบรรยากาศ

เมื่อฝุ่นควันรวมตัวกับก๊าซอื่นที่อยู่ในอากาศไม่ว่าจะเป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารปรอท แคดเมียม สารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างยิ่งเมื่อมารวมตัวกับ PM2.5 แล้วก็จะทำให้เข้าสู่ร่างกาย ของมนุษย์ง่ายมากขึ้นไปอีก

ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ

ฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบ
รูป PM2.5
  1. ผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจ

ระบบทางเดินหายใจนี้นับว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในลำดับแรกๆเพราะว่าเป็นส่วนที่สัมผัสกับฝุ่น PM2.5 เป็นด่านแรกซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน ภายในเวลา 1 – 2วัน อาการที่พบได้ทันทีหลังจากที่ได้แก่

  • การไอ จาม เจ็บคอมาก เมื่อฟังเสียงหายใจจะพบว่ามีเสียงดัง หายใจลำบาก
  • เกิดอาการเลือดกำเดาไหล บางรายอาจมีอาการไอรุนแรงจนถึงขั้นไอออกมาเป็นเลือด หากมีอาการแบบควรต้องไป พบแพทย์
  • ผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้อาการจะกำเริบมากยิ่งขึ้น
  • เมื่อสะสมในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด เนื่องจากฝุ่น PM2.5 นั้นมีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย ต่อร่างกายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซึ่งล้วนเป็นสารที่ให้เกิดโรคมะเร็งทั้งสิ้น
  • ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง ข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตว่า“การเกิดถุงลมโป่งพอง เกิดมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปที่ปอด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เม็ดเลือดขาวกินฝุ่นพวกนี้เพื่อรักษาร่างกายแต่ไม่สามารถย่อยได้จึงตายแล้วปล่อยเอนไซม์ที่เป็นน้ำย่อยมาย่อยผนังปอดอีกทีหนึ่ง ทำให้ถุงลมนับร้อยในปอดแตกออกเหลือเป็นถุงเดียว พื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซลดเหลือน้อยลง และทำให้เกิดอาการเหนื่อย ดังนั้นเมื่อเราสูดหมอกควันเข้าไปมาก ๆ จึงเป็นเสมือนการสูบบุหรี่”
  1. ผลกระทบกับระบบผิวหนัง

ผิวหนังเป็นอีกระบบหนึ่งที่สัมผัสกับฝุ่นโดยตรงจึงทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน อาการที่พบได้กับระบบผิวหนังมีดังนี้

  • เกิดอาการคันตามร่างกาย เป็นลมพิษ ขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกายตา หู จมูกปาก ขา แขน หลัง บางรายที่แพ้มากต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาการลมพิษอาจลุกลามเข้าไปสู่อวัยวะภายในร่างกายได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
  • ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง แสบ ร้อนที่ผิว ผิวหนังอักเสบ
  • อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ เนื่องจากในฝุ่น PM2.5 มีสารที่ให้เกิดโรคมะเร็งหลายอย่างไม่จะเป็นตะกั่ว ปรอท แคดเมียม
  • ทำให้ผิวเหมืองคล้ำไม่สดใส มีจุดด่างดำ ริ้วรอยก่อนวัย
  1. ผลกระทบกับระบบสมอง

ใครจะไปคิดว่าฝุ่น PM2.5 นี้จะร้ายกาจถึงขนาดที่มีผลกระทบกับสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อายุเท่าไหร่ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้นเมื่อไม่ได้นานมานี้ บางคนอาจจะเคยผ่านตากันบ้างกับคลิปวีดิโอภาพอัลตร้าซาวด์ของทารกที่พบว่ามีกลุ่มควันที่สามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในครรภ์ของมารดาซึ่งแน่นอนว่ามันจะต้องกระทบกับสมองของเด็กอย่างแน่นอน

  • ทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กล่าช้า การพัฒนาทางด้านสติปัญญาด้อยลง
  • หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับฝุ่น PM2.5 จะทำให้ทารกในครรภ์คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย และอาจทำให้ทารกในครรภ์เป็นโรคออทิสติกเมื่อคลอดออกมา
  • ในผู้ใหญ่อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
  • ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันมากขึ้นถึง 34%
  • ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้วจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคนี้มากขึ้นตามไปด้วย
  • กระตุ้นให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไมเกรน อาการจะรุนแรงมากขึ้น ถ้าหากปวดหัวมากจน ทนไม่ไหวต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
  1. ผลกระทบกับระบบหัวใจและหลอดเลือด

ระบบหัวใจและหลอดเลือดจะเป็นผลกระทบระยาวที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดดังนี้

  • โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
  • โรคหัวใจ หัวใจวาย
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เส้นเลือดสมองตีบ ทำให้เป็นอัมพาต
  1. ผลกระทบอื่นๆ

เช่น ผลกระทบกับดวงตา ทำให้ตาแดง ตาอักเสบ และกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม มีอาการแย่ลงกว่าเดิม

ภาวะแทรกซ้อนและกลุ่มเสี่ยงต่อ PM2.5

ฝุ่น PM 2.5 กลุ่มเสี่ยง
รูป PM2.5

กลุ่มเสี่ยง PM2.5 มีใครบ้าง

กลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่น PM2.5 นั้น ถ้ารวมๆแล้วก็คือทั้งประเทศที่อยู่ในบริเวณที่มีค่าฝุ่นเกิดมาตรฐานทั้งหมดแต่เราจะมาแบ่งเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงมากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวง่าย ดังนี้

  1. หญิงตั้งครรภ์ อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าหญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสกับฝุ่น PM2.5 นั้นจะส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์
  2. เด็กเล็ก (เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี)เป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ เมื่อได้รับฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดโรคได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ และเด็กเล็กยังไม่รู้จักวิธีการป้องกันตนเองที่ดีพอจึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
  3. ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ระบบต่างๆในร่างกายจะเริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่ทั้งระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ หลอดเลือด หรือ สมอง เมื่อได้รับฝุ่น PM2.5 เข้าไป ก็จะยิ่งไปทำลายระบบต่างๆในร่างกายในแย่ลงมากไปกว่าเดิมซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายมากขึ้น
  4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีโรคประจำตัวนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดเนื่องจากฝุ่น PM2.5 นี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการต่างๆของโรคแย่ลงมากไปกว่าเดิม บางรายอันตรายจนถึงเสียชีวิตเลยก็มี เช่นผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ก็มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก

ภาวะแทรกซ้อนจาก PM2.5 มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อน สุขภาพระยะสั้น

  1. กระตุ้นให้กลุ่มคนที่มีอาการภูมิแพ้แบบต่างๆอาการแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด หัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพอง
  2. ทำให้เกิดอาการโรคกำเดาไหล
  3. ทำให้เกิดลมพิษ

ภาวะแทรกซ้อนสุขภาพระยะยาว

  1. เกิดโรคถุงลงโป่งพองเทียบเท่าการสูบบุหรี่
  2. โรคมะเร็งปอด
  3. การทำงานของปอดลดลง
  4. โรคมะเร็งผิวหนัง

ป้องกัน

วิธีป้องกัน PM2.5

ในบ้าน

  1. ใช้เครื่องฟอกอากาศ เครื่องฟอกอากาศนับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีหากคุณมีกำลังทรัพย์สักหน่อยเครื่องฟอกอากาศจะช่วยให้อากาศในห้องของคุณอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้
  2. ปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 เข้ามาในบ้านของคุณ อาจเปิดเครื่องปรับอากาศช่วยเพื่อให้ ฝุ่นควันลดลง
  3. ทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ปราศจากฝุ่นอยู่เสมอ
  4. ในวันที่มีค่าฝุ่นมากเกินมาตรฐาน ควรงดการเผาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเผาหญ้า เผาขยะ

นอกบ้าน

  1. ในวันที่ค่า PM2.5 สูงหรือสังเกตเห็นว่ามีฝุ่นมากกว่าปกติ ไม่ควรจะไปออกกำลังกายนอกบ้านและไม่ควรสวม หน้ากากอนามัยในการออกกำลังกาย
  2. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาออกจากบ้านสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่เรียกว่า N95 ซึ่งจะสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยปกติ หากไม่มีก็ให้ใส่หน้ากากอนามัย2ชั้นก็ได้
  3. สำหรับในวันที่ฝุ่นเยอะสำหรับผู้ที่มีปัญหาภูมิแพ้ผิวหนังควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดที่สุดเพื่อป้องกันฝุ่นมากระทบกับผิวทำให้ผิวระคายเคือง เป็นลมพิษ
  4. หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในวันที่มีฝุ่นมากเกินมาตรฐานจะดีที่สุดโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

PM2.5 หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะอยู่กับมันอย่างไร

ฝุ่น PM 2.5 เราจะอยู่กับมันอยู่ไร
รูป PM2.5

หากคุณไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย หรือ หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสกับอากาศนอกอาคาร หากคุณมีโรคประจำตัวยิ่งต้องดูแลตนเองให้มากเป็นพิเศษพกยาโรคประจำตัวออกไปนอกบ้านด้วยทุกครั้งสวมหน้ากากอนามัยแบบพิเศษ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอทุกระบบโดยเฉพาะตรวจการทำงานของปอด หากมีอาการไม่ดีควรรีบพบแพทย์ทันที

เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณ PM2.5 ได้อย่างไร

ฝุ่น PM2.5 คือ
รูป PM2.5
  1. ใช้บริการรถโดยสารประจำทางหรือขนส่งสาธารณะทดแทนการขับรถยนต์มาทำงานเพื่อเป็นการลดปริมาณฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์
  2. งดการเผาขยะในในที่โล่งแจ้ง
  3. งดการเผาป่า เผานา เผาไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดค่าฝุ่นควันที่เกินมาตรฐาน
  4. ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ เพื่อเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ
  5. ตรวจเช็คสภาพรถยนต์อยู่เสมอเพื่อป้องกันควันดำ
  6. งดการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นการเพิ่มควันเสียในอากาศและเป็นการรบกวนคนรอบข้าง
  7. ในการวันที่อากาศไม่ดีถ้าเป็นไปได้ควรงดการจุดธูปเพราะการจุดธูปเป็นการเพิ่มควันในอากาศ

FAQ

คำถามที่พบเป็นประจำเกี่ยวกับ PM2.5

หากไม่มีหน้ากากอนามัย N95 ต้องทำอย่างไร ?

หากคุณไม่มีหน้ากากอนามัย N95 ให้คุณใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาแล้วใช้ทิชชู่สำหรับเช็ดหน้ารอง 3 ชั้น หรือ ถ้าหากหาไม่ได้จริงๆก็ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาดๆปิดปากปิดจมูกก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน

จังหวัดใดที่มีค่า PM2.5 มากที่สุด ?

ส่วนใหญ่การเกิดฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานจะมาเผาในที่โล่งมากที่สุด และจังหวัดที่มีการเผาป่า เผานา เผาไร่ มากที่สุดก็จะเป็นจังหวัดในภาคเหนือเช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก แพร่ น่าน เป็นต้น

การป้องกัน PM2.5 ตอนอยู่ในบ้านทำอย่างไร

การป้องกัน PM2.5 ตอนที่อยู่ในบ้านสามารถที่จะทำได้ง่ายกว่าตอนอยู่นอกบ้านเนื่องจากคุณสามารถที่จะคบคุมอากาศไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ด้วยการปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เปิดเครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี)และเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วย ไล่ฝุ่นควันและปรับสภาพอากาศภายในบ้านให้สมดุลเพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกัน PM2.5 ได้แล้ว

หากอยู่ในรถยนต์ฝุ่น PM2.5 จะเข้ามาได้หรือไม่ ต้องติดเครื่องฟอกอากาศช่วยไหม

ปกติในรถยนต์จะมีระบบการกรองอากาศที่ดีอยู่แล้ว คุณจึงปลอดภัยจากค่า PM2.5 เมื่ออยู่ในรถยนต์ และไม่จำเป็นต้องติดเครื่องฟอกอากาศเพิ่ม แต่หากว่าวันนั้นอากาศมันเลวร้ายมากจริงๆคุณก็อาจใช้เครื่องฟอกอากาศช่วยได้

เราจะตรวจสอบคุณภาพอากาศ หรือฝุ่น PM2.5 ได้อย่างไร

หากเราต้องการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในตัวบ้าน เครื่องฟอกอากาศบางรุ่นสามารถวัดดัชนีคุณภาพอากาศที่บ่งบอกถึงค่า PM2.5 ได้ แต่หากต้องการวัดค่า PM2.5 ภายนอกตัวบ้านหรือสถานที่ต่างๆ เราสามารถใช้แอพพลิเคชั่น เช่น AirVisual ที่เปิดให้โหลดกับผู้ใช้ Android และ IOS หรือหากใครไม่สะดวกก็สามารถใช้เว็บ air4thai.pcd.go.th/webV2

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: , , , , , ,