Business Model Canvas คือ? มีอะไรบ้าง? ตัวอย่างพร้อม Template

Business Model Canvas คือ? มีอะไรบ้าง? ตัวอย่างพร้อม Template

หากคุณคือนักธุรกิจ ต้องการวางโครงสร้างธุรกิจ สร้างสรรค์ไอเดีย โมเดล แผนการ หรือคุณคือนักลงทุน ต้องการวิเคราะห์ธุรกิจที่กำลังสนใจลงทุนอยู่ เราขอแนะนำให้รู้จักกับ Business Model Canvas เครื่องมือที่จะช่วยวางแผน วิเคราะห์ ปัจจัยสำคัญต่างๆที่เกี่ยวกับธุรกิจอย่างรอบด้านและเป็นขั้นเป็นตอนจบภายใน 1 หน้ากระดาษ ซึ่งหากคุณพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยว่า Business Model Canvas คืออะไร? มีอะไรบ้าง? พร้อมยกตัวอย่างมาให้ และหากคุณต้องการ Business Model Canvas Template เราก็ได้เตรียมมาให้คุณแล้ว!

Business Model Canvas

สามารถกดที่รูปเพื่อโหลด Business Model Canvas Template แบบไม่มีสีไปได้เลย

Business Model Canvas คืออะไร ?

Business Model Canvas คือ เครื่องมือที่มาในรูปแบบเทมเพลต 9 ช่อง ใช้ออกแบบโมเดลธุรกิจ ประเมิน วิเคราะห์ตัวธุรกิจอย่างครอบคลุม ทำให้เข้าใจโครงสร้าง จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาต่างๆ ทั้งบริษัท ผลิตภัณฑ์ คู่แข่งแบบละเอียดและอย่างกะทัดรัด Business Model Canvas นั้นถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดย Alex Osterwalder นักทฤษฎีนักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ นักพูด และแน่นอนนักธุรกิจ ซึ่ง Business Model Canvas 9 ช่องที่ว่ามาข้างต้นนั้นจะประกอบไปด้วย 9 หัวข้อด้านล่างนี้

Business Model Canvas 9 ช่องมีอะไรบ้าง ?

Business Model Canvas ทั้ง 9 ช่องนั้น สามารถจับมัดรวมได้ทั้งหมดเป็น 4 หมวดหมู่ ซึ่งการนำหัวข้อต่างๆนั้นมาใส่เป็นหมวดหมู่หลักๆไปก็เพื่อทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตั้งคำถามและตอบคำถามได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น

How – ทำอย่างไรให้ลูกค้าชอบในสินค้า/บริการของเรา ?

  • Key Partners (พันธมิตรหลัก)
  • Key Activities (กิจกรรมหลัก)
  • Key Resources (ทรัพยากรหลัก)

What – คุณค่าสินค้า/บริการของเราคืออะไร ?

  • Value Propositions (คุณค่า จุดแข็ง)

Who – ใครลูกค้าของเรา ?

  • Customer Relationships (ความสัมพันธ์กับลูกค้า)
  • Channels (ช่องทางต่างๆ)
  • Customer Segments (ประเภทลูกค้าของเรา)

Money – การวางแผนการเงิน

  • Cost Structure (โครงสร้างต้นทุน)
  • Revenue Streams (ช่องทางรายได้)

สำหรับ 9 หัวข้อนี้หลังจากที่เราได้อธิบายประโยชน์ของ Business Model Canvas แล้วเราจะพาไปเจาะลึกกันว่าในแต่ละหัวข้อมีจุดประสงค์อะไรบ้าง ควรตั้งคำถามอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ พร้อมยกตัวอย่างในการใช้งาน

5 ประโยชน์ของ Business Model Canvas

  1. ช่วยให้เข้าใจภาพรวม ปัจจัยต่างๆที่ควรคำนึงหรือมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างกระทัดรัดภายใน 1 หน้ากระดาษ
  2. ช่วยสร้างเสริมไอเดียและปรับแต่งไอเดียให้ทันโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
  3. ช่วยทำให้การระดมไอเดียในที่ประชุมไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น
  4. ช่วยให้เราสามารถออกแบบคุณค่าของธุรกิจได้โดยยึดมุมมองของลูกค้าได้

Customer Relationships

[Who] – Customer Relationships (ความสัมพันธ์กับลูกค้า)

การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นจากวิธีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างเรากับลูกค้า ดังนั้นเราก็ควรเลือกวิธีการให้บริการ ให้ความช่วยเหลือต่างๆอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและเป็นแบบที่ลูกค้าชอบ ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้านั้นสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภทดังนี้

  1. การให้ความช่วยเหลือส่วนบุคคล (Personal Assistance)

การให้ความช่วยเหลือส่วนบุคคล หรือการให้บริการ ปฏิสัมพันธ์แบบ 1-1 ตัวอย่างเช่น Call Center, Live Chat, อีเมล, และ ช่างเทคนิค ซ่อมบำรุง หรืออื่นๆ

  1. การให้ความช่วยเหลือแบบผู้ช่วยส่วนตัว (Dedicated Personal Assistance)

การให้ความช่วยเหลือหรือการให้บริการแบบผู้ช่วยส่วนตัว ที่ผู้ให้บริการรู้จักกับลูกค้าเป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์กับลูกค้าไปอีกระดับ ตัวอย่างเช่น ช่างตัดผม, เซลล์ประกัน, และ ที่ปรึกษา Agency หรือ Specialist ต่างๆ

  1. การบริการตนเอง (Self-Service)

การบริการตนเอง คือการรักษาความสัมพันธ์โดยการมอบสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็นต่อลูกค้า ให้ลูกค้าสามารถบริการตนเองได้ ตัวอย่างเช่น บุฟเฟ่ต์โรงแรม, ตู้ ATM, และ เครื่องจ่ายเงิน Self-Service Supermarket

  1. การบริการด้วยระบบอัตโนมัติ (Automated Services)

การบริการด้วยระบบอัตโนมัติ คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าสามารถบริการตนเองได้เต็มที่ ตัวอย่างเช่น ตู้ Kiosk เช็คอินขึ้นเครื่องบิน, ระบบซื้อขายหุ้น Streaming Pro, และแอพลิเคชั่นการเงินของธนาคาร

  1. ความสัมพันธ์แบบเครือข่าย (Communities)

ความสัมพันธ์แบบเครือข่าย หรือที่มาในลักษณะในการให้บริการแบบชุมชน ตัวอย่างเช่น ฟอรั่ม, กลุ่ม Facebook

  1. ความสัมพันธ์แบบช่วยกันสร้าง (Co-Creation)

ความสัมพันธ์แบบช่วยกันสร้าง ที่บริษัทอนุญาติและส่งเสริมให้ผู้ใช้ส่วนหนึ่งสามารถสร้างบริการ สินค้าให้กับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างเช่น Youtube,Twitch,

จุดประสงค์

เพื่อที่จะได้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี ยั่งยืน มั่นคง ผูกพัน ภักดีระหว่างบริษัทกับลูกค้า ที่จะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจซื้อสินค้าของเราซ้ำๆ ใช้บริการของเราซ้ำๆ หรือบอกต่อคุณภาพ

ตัวอย่างคำถาม

  • ลูกค้าคาดหวังให้เรามีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไรเป็นลักษณะไหน ?
  • มีวิธีรักษาความสัมพันธ์ปัจจุบันหรือพัฒนาไปในจุดที่ต้องการอย่างไร ? ราคาเท่าไหร่ ?
  • ความสัมพันธ์เหล่านี้จะเข้ากับแผนธุรกิจส่วนอื่นๆของเราอย่างไร ?

Channels

[Who] – Channels (ช่องทางต่างๆ)

ช่องทาง คือสถานที่หรือโอกาสที่ลูกค้าหรือคนที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า บริการ หรือข้อมูลต่างๆ ดังนั้นการเลือกช่องทางในการเผยแพร่สินค้า บริการ ข้อมูล ทำให้ลูกค้ารับรู้ เข้าใจ สนใจเรานั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ซึ่งช่องทางนั้นสามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 3 ช่องทางดังนี้

  1. ช่องทาง/สื่อที่เราเป็นเจ้าของ (Owned Media)

สื่อประเภทนี้เกิดจากการที่เราสร้างขึ้นมาเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและรักษาความสัมพันธ์นั้นให้ยืนยาว มีจุดเด่นที่ เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ควบคุมคุณภาพได้เต็มที่ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ และเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง Earned Media ตัวอย่างสื่อที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น เว็บไซต์, Facebook Fanpage, App, หน้าร้าน

  1. ช่องทาง/สื่อที่เราไม่ต้องเสียเงินซื้อ (Earned Media)

สื่อประเภทนี้นั้นล้วนเกิดจากความสนใจ ความประทับใจที่ทำให้เกิดการบอกต่อบนสื่อ ช่องทางต่างๆ มีจุดเด่นที่ น่าเชื่อถือ, ฟรี, โปร่งใส และยั่งยืน ตัวอย่างสื่อที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น การรีวิวของลูกค้า, การไลค์ แชร์ รีทวีต, การบอกต่อ (Word of Mouth)

  1. ช่องทาง/สื่อที่เราต้องเสียเงินซื้อ (Paid Media)

สื่อประเภทนี้เราจะต้องเสียเงินให้ได้มา มีจุดเด่นที่ ผลลัพท์ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่จ่ายไป, ได้ผลเร็ว, กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ และติดตามผลลัพท์ได้ ตัวอย่างสื่อที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น โฆษณาสิ่งพิมพ์, โฆษณาบน Facebook, Google, Twitter, Billboard หรือบน TV

ซึ่งหลักการที่เราควรคำนึงเมื่อเรากำหนดช่องทาง คือ ขั้นตอนการขาย (Channel Phase) ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระยะดังนี้

  1. รับรู้ (Awareness) – ลูกค้าจะรับรู้ถึงตัวตน สินค้า การบริการของเราได้อย่างไร ?
  2. พิจารณา (Consideration) – จะทำให้ลูกค้าสนใจในตัวสินค้า บริการอย่างไร ?
  3. ตัดสินใจซื้อ (Conversion) – ลูกค้าจะใช้บริการหรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางไหนได้บ้าง ?
  4. จัดส่ง (Delivery) – เราสามารถจัดส่งสินค้า การบริการผ่านช่องทางไหนได้บ้าง ?
  5. หลังการขาย (After Sales) – เราจะช่วยหรืออำนวยความสะดวกหลังการขายได้อย่างไร ?

จุดประสงค์

เพื่อให้สินค้า การบริการ หรือข้อมูลของเราเข้าถึงลูกค้าหรือคนที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าได้เป็นจำนวนมากที่สุด มีประสิทธิภาพและสะดวกที่สุด

ตัวอย่างคำถาม

  • ลูกค้าต้องการให้เราสื่อสารหรือให้ข้อมูลกับเขาผ่านช่องทางไหน ?
  • ลูกค้าของเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บน Social Media ที่ไหนบ้าง ? ชอบดูวีดีโอ อ่าน หรือฟัง ?
  • เรากำลังใช้ช่องทางไหนในการเข้าถึงลูกค้าอยู่ ? และมีช่องทางใหม่ๆ บ้างหรือไม่ ?
  • ช่องทางที่เรากำลังใช้อยู่มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ? หรือช่องทางใหม่ๆ จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ?

Customer Segments

[Who] – Customer Segments (ประเภทลูกค้าของเรา)

การที่เรารู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีอย่างเจาะลึก นั้นสามารถถือว่าเป็นแต้มต่อทางธุรกิจได้ ตัวอย่างเช่นหากเรารู้ว่าลูกค้าเราคือใคร ชอบอะไร อายุเท่าไหร่ เพศอะไร ทำงานที่ไหน มีรายได้เท่าไหร่ ประสบปัญหาอะไรอยู่บ้าง หรืออื่นๆ เราจะสามารถใช้ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ หรือสื่อ ประชาสัมพันธ์ของเราให้สอดคล้องกับข้อมูลที่เรามีอยู่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่างๆของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเรารู้จักลูกค้าของเราแล้ว เราจะสามารถทราบได้ว่าธุรกิจของเรานั้นเหมาะจะโฟกัส ให้ความสนใจ ให้น้ำหนัก หรือตีตลาดกลุ่มไหนบ้าง? ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักๆแล้วจะแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 5 กลุ่มดังนี้

  1. ตลาดมวลชน (Mass Market) – กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มีจำนวนมาก ขนาดใหญ่ เช่น ซื้ออาหาร ซื้อโทรศัพท์
  2. ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) – กลุ่มลูกค้าที่มีขนาดเล็ก มีความต้องการเจาะจง เช่น ซื้ออาหารเต่า ซื้อรองเท้าวิ่ง
  3. ลูกค้าแบ่งกลุ่ม (Segmented) – กลุ่มลูกค้าแบ่งส่วนที่มีความต้องการหลักอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน เช่น ซื้อแว่นสายตา ซื้อเลนส์สายตาที่ช่วยกรองแสงสีฟ้า/UV
  4. ตลาดหลากหลาย (Diversified) – กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน เช่น บริษัทที่ต้องการให้รันแคมเปญการตลาดต่างๆให้ ไม่าว่าจะเป็นออนไลน์ PPC SEO Dispaly Social Media หรือ ออฟไลน์
  5. ตลาดสองด้าน (Multi-sided Markets) – กลุ่มลูกค้า 2 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน เช่น นิตยสารต่างๆ, Youtube (ผู้สร้างคอนเทนท์ & ผู้ชม), Amazon (ผู้ซื้อ & ผู้ขาย), นิตยสารต่างๆ (ผู้ลงโฆษณา & ผู้ซื้อนิตยสาร)

จุดประสงค์

เพื่อให้เรารู้จักกลุ่มลูกค้าที่สำคัญต่อธุรกิจเราให้ได้มากและละเอียดที่สุด เพื่อที่จะนำข้อมูลลูกค้าเหล่านั้นไปพัฒนาสินค้า การบริการ หรือข้อความ ช่องทางการประชาสัมพันธ์

ตัวอย่างคำถาม

  • สินค้าหรือบริการของเราแก้ปัญหาให้ใคร ?
  • กลุ่มลูกค้าประเภทไหนสำคัญต่อธุรกิจเรามากที่สุด ? (เจาะลึกลงไปเช่น ผู้ชาย อายุ 20-25 นักศึกษาจบใหม่)
  • กลุ่มลูกค้าของเรานั้นมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร ?
  • กลุ่มผู้ใช้สินค้าหรือบริการเป็นลูกค้าเองหรือไม่ ?

Value Propositions

[What] – Value Propositions (คุณค่า จุดแข็ง)

คุณค่าของธุรกิจถือว่าเป็นรากฐานของธุรกิจ ซึ่งหากรากฐานแข็งแรง ธุรกิจของเราก็สามารถเติบโตได้ง่าย ไปได้ไกล และยั่งยืน ซึ่งจุดแข็งหรือคุณค่าของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือการบริการที่เสนอให้กับลูกค้านั้นต้องพิเศษ แตกต่างไม่เหมือนใครทั้งด้านปริมาณหรือคุณภาพ เช่น ราคา ประสบการณ์การลูกค้า นวัตกรรม ลักษณะ หรือคุณสมบัติ ดังนั้นการค้นหาจุดแข็งหรือคุณค่าของตัวธุรกิจเราจึงสำคัญมากๆ ซึ่งวิธีการหาคุณค่า จุดแข็งที่เป็นสากล ผู้คนนิยมใช้กันก็คือ Value Proposition Canvas ด้านล่างนี้

Value Proposition Canvas
strategyzer

สามารถกดที่รูปเพื่อโหลด Value Proposition Canvas Template ไปได้เลย

จุดประสงค์

เพื่อหาสิ่งที่ลูกค้าจำเป็นต้องมีหรือต้องการ ที่จะนำมาผลิต ปรับปรุงสินค้า บริการ ให้สามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างตรงจุด เพื่อให้ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นจุดแข็งหรือคุณค่าของธุรกิจเรา

ตัวอย่างคำถาม

  • ลูกค้าของเราต้องการอะไร ?
  • อะไรจำเป็นต่อลูกค้าของเรา ?
  • สินค้าหรือบริการของเราเป็นประโยชน์หรือมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้าเราอย่างไร ?
  • สินค้าหรือบริการของเราแก้ปัญหาของลูกค้าเราอย่างไรบ้าง ?
  • ทำไมลูกค้าต้องการให้ช่วยแก้ปัญหานี้ ?
  • ปัจจัยอะไรที่ทำให้ลูกค้าเลือกใช้สินค้า บริการของเราเหนือของคู่แข่ง ?

Key Partners

[How] – Key Partners (พันธมิตรหลัก)

ธุรกิจนั้นไม่สามารถดำเนินไปได้เพียงบริษัทตนเองเพียงบริษัทเดียว ถึงแม้ว่างานบางอย่างเราอาจจะสามารถทำเองได้ แต่ในหลายๆกรณีค่าใช้จ่ายทางด้านเวลา เงิน หรือทรัพยากรอื่นๆนั้นอาจจะไม่คุ้มค่า เราควรเอาเวลาไปทำสิ่งที่เราถนัดและเป็นฟันเฟืองหลักในการดำเนินธุรกิจของเราจะดีกว่า ซึ่งในส่วนนี้เองที่คู่ค้า พันธมิตรธุรกิจจะเข้ามาช่วยให้เราดำเนินธุรกิจไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราบลื่น ลดความเสี่ยงในเรื่องต่างๆไปได้มาก ซึ่งพันธมิตรธุรกิจนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ประเภท

  1. พันธมิตรกับบริษัทที่ไม่ใช่คู่แข่ง (Strategic alliances between non-competitors)

ตัวอย่างเช่น KFC (ธุรกิจอาหาร) กับ ROV (ธุรกิจเกม), Fila (เสื้อผ้า) กับ Pepsi (เครื่องดื่ม)

  1. พันธมิตรกับคู่แข่ง (Coopetition)

ตัวอย่างเช่น Starbuck กับ After You

  1. พันธมิตรกับบริษัทอื่นเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ (Joint Ventures to develop new businesses)

ตัวอย่างเช่น LINE BK เกิดจากการจับมือกันระหว่าง LINE และ ธนาคารกสิกรไทย

  1. ความสัมพันธ์แบบผู้ซื้อ-ผู้ขาย (Buyer-supplier relationships)

ตัวอย่างเช่น โรงงาน OEM กับผู้จำหน่ายเครื่องสำอาง, ผู้นำเข้าผลไม้ ผู้ขายส่ง-ปลีกผลไม้,

จุดประสงค์

เพื่อหาและรู้ว่าใคร กลุ่มคนประเภทใดที่สำคัญต่อธุรกิจของเราในด้านต่างๆ

ตัวอย่างคำถาม

  • ใครคือคู่ค้าที่สำคัญ ขาดไม่ได้สำหรับเรา ?
  • คู่ค้าประเภทใดมีโอกาสมาเป็นพันธมิตรกับเราได้บ้าง ?

Key Activities

[How] – Key Activities (กิจกรรมหลัก)

การขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินไปได้นั้นประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายอย่างที่เราต้องคำนึง และแน่นอนหากเราต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจหล่ะก็เราควรต้องมองหาว่ากิจกรรมไหนสำคัญ ช่วยสร้างคุณค่าในด้านต่างๆที่ควรโฟกัส ซึ่งกิจกรรมหลักที่ธุรกิจต้องมีนั้นสามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 3 หมวดหมู่ดังนี้

  1. การผลิต (Production)

ตัวอย่างเช่น การออกแบบ การผลิต การควบคุมการผลิต การส่งสินค้า

  1. การแก้ไขปัญหา (Problem-solving)

ตัวอย่างเช่น การทำวิจัยพัฒนาสินค้า การบริการก่อนการขาย/หลังการขาย

  1. ชานชลา/ เครือข่าย (Platform/ network)

ตัวอย่างเช่น การทำการตลาด การสร้างชุมชนผู้ใช้

จุดประสงค์

เพื่อค้นหาและระบุกิจกรรมหลักในด้านต่างๆที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างคำถาม

  • กิจกรรมที่ช่วยสร้างหรือเพื่มคุณค่าให้กับธุรกิจมีอะไรบ้าง ?
  • กิจกรรมใดที่ช่วยสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ?
  • กิจกรรมใดที่ช่วยสร้างช่องทางรายได้ ?
  • กิจกรรมใดช่วยรักษาช่องทางการขาย ?

Key Resources

[How] – Key Resources (ทรัพยากรหลัก)

ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจประเภทใด ขายสินค้าหรือให้บริการ เราจะต้องใช้ทรัพยากรประเภทต่างๆในการดำเนินธุรกิจเสมอ ซึ่งการที่เราสามารถระบุได้ว่าทรัพยากรไหนสำคัญต่อธุรกิจเรา ให้คุณค่าในด้านต่างๆได้ เราจะมีโอกาสสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน มั่นคงและประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ทรัพยากรหลักที่เราควรให้ความสำคัญนั้นสามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 4 ประเภทดังนี้

  1. ทรัพยากรบุคคล (Human Resources) ตัวอย่างเช่น ลูกจ้าง พนักงาน ฟรีแลนซ์
  2. ทรัพยากรทางการเงิน (Financial Resources) ตัวอย่างเช่น เงินสด เงินกู้ เงินลงทุน
  3. ทรัพยากรทางปัญญา (Intellectual Resources) ตัวอย่างเช่น แบรนด์ ลิขสิทธิ์
  4. ทรัพยากรที่จับต้องได้ (Physical Resources) ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ อาคาร วัตถุดิบ สินค้า

จุดประสงค์

เพื่อค้นหาและระบุทรัพยากรหลักในด้านต่างๆที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

ตัวอย่างคำถาม

  • ทรัพยากรที่ช่วยสร้างหรือเพื่มคุณค่าให้กับธุรกิจมีอะไรบ้าง ?
  • ทรัพยากรใดที่ช่วยสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ?
  • ทรัพยากรใดที่ช่วยสร้างช่องทางรายได้ ?
  • ทรัพยากรใดช่วยรักษาช่องทางการขาย ?

Cost Structure

[Money] – Cost Structure (โครงสร้างต้นทุน)

ธุรกิจนอกเหนือจากความแตกต่าง ความไม่เหมือนใครแล้ว ราคาก็เป็นสิ่งที่สำคัญสามารถกำหนดชะตาธุรกิจของเราได้ ซึ่งตัวแปรหลักของราคาสินค้า/บริการของเรานั้นก็คือ ต้นทุน หากเรามีต้นทุนต่ำ เราก็มีโอกาสในการกำหนดราคาสินค้าได้หลากหลายรูปแบบขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันในกับคู่แข่งในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง ต้นทุน สามารถจำแนกออกมาได้ทั้งหมด 4 ประเภท

  1. ต้นทุนคงทึ่ (Fixed Cost) ตัวอย่างเช่น ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าจ้างพนักงาน
  2. ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ตัวอย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าวัตถุดิบ ค่า Packaging
  3. ต้นทุนผลิตมากแล้วราคาถูกลง (Economy of Scale) ตัวอย่างเช่น สั่งผลิตแก้วพลาสติกจำนวนมากเพื่อลดค่าผลิตต่อหน่วย
  4. ต้นทุนซื้อรวมกันแล้วถูกลง (Economy of Scope) ตัวอย่างเช่น ซื้อโต๊ะ เก้าอี้ออฟฟิศจำนวนมาก เพื่อรับส่วนลดพิเศษ

จุดประสงค์

เพื่อวางแผน วิเคราะห์และควบคุมโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างคำถาม

  • ค่าใช้จ่ายอะไรสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ ?
  • ค่าใช้จ่ายอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ?
  • ค่าใช้จ่ายอะไรที่แพงแต่สำคัญ ไม่สามารถเลี่ยงได้ ?
  • ค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ ?

Revenue Streams

[Money] – Revenue Streams (ช่องทางรายได้)

รายได้ สาเหตุหลักที่เราโดยส่วนมากเริ่มทำธุรกิจ ดังนั้นหากเราต้องการมีรายได้ที่มาก เติบโตและยั่งยืน เราควรที่จะรู้ว่ารายได้ของเรามาจากช่องทางไหนบ้าง มีประเภท ขั้นตอนการรับรายได้อย่างไร ซึ่งการรับรายได้สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท และ 7 แหล่งที่มาดังนี้

รายได้ 2 ประเภท

  1. รายได้จากธุรกรรม (Transaction-based Revenue) คือ รายได้ที่เกิดขึ้นต่อครั้งเมื่อลูกค้าทำการเกิดการซื้อขาย
  2. รายได้ที่เข้ามาต้อเนื่อง (Recurring Revenue) คือ รายได้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องแบบรายเดือน รายปี จากการสมัครเป็นสมาชิก หรือผู้ใช้

7 แหล่งรายได้

  1. รายได้จากการขายทรัพย์สิน (Asset Sales)
  2. รายได้จากการใช้งาน (Usage Fee)
  3. รายได้จากการใช้งานต่อเนื่อง (Subscription Fee)
  4. รายได้จากการเช่ายืม (Lending/ Leasing /Renting)
  5. รายได้จากการใช้งานต่อเนื่อง (Licensing)
  6. รายได้จากค่าธรรมเนียม (Brokerage Fees)
  7. รายได้จากโฆษณา (Advertising)

จุดประสงค์

เพื่อที่จะสามารถกำหนดช่องทางการเข้ามาของรายได้ว่ามาในรูปแบบใด จากแหล่งใดบ้าง

ตัวอย่างคำถาม

  • เราจะหารายได้อย่างไร ?
  • เรามีกลยุทธการตั้งราคาอย่างไร ?
  • ราคาที่ลูกค้าคิดว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ ?
  • แต่ละช่องทางการหารายได้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด ?

เป็นอย่างไรบ้าง ? ทั้งหมดนี้คือ Business Model Canvas หวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจว่า Business Model Canvas คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และจะสามารถใช้วิธีนี้ในการวางแผนและวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากได้อย่างที่ตัวเองต้องการนะ

หากถูกใจอย่าลืม กดแชร์!
Tags: ,